วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

อารมณ์พระโสดาบันและพระสกิทาคามีมรรค (ต่อ)

อารมณ์พระโสดาบันและพระสกิทาคามีมรรค (ต่อ)

จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน

การอภัยทาน
โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทได้พากันสมาทานพระรัตนตรัยแล้ว สำหรับวันนี้ก็จะพูดต่อเมื่อวันวาน แต่การเริ่มต้นก็ขอให้ทุกคนพยายามฝึกฝนอารมณ์ไว้ วิธีการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกนี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นการระงับอาการฟุ้งซ่านของจิต เราอธิบายกันมามาก พูดกันมามาก ไม่อยากอธิบายซ้ำ ไม่อยากพูดซ้ำ
สำหรับวันนี้ก็จะได้ปรารภเรื่องพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีต่อไป เพราะว่าท่านโสดาบันกับสกิทาคามีละสังโยชน์ได้เสมอกัน แต่ทว่ามีอาการระงับต่างกัน หมายถึงว่าพระสกิทาคามี มีการระงับ หรือการทำโลภะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง สำหรับพระสกิทาคามีเบื้องต้น เรียกว่า สกิทาคามีมรรค นั่นก็ได้แก่ถือ อภัยทานเป็นสำคัญ อภัยทานที่จะเกิดขึ้นมาได้ก็ อาศัยพรหมวิหาร 4 ถ้ามีอยู่ในใจ ก็มีแต่ความรักความสงสาร ตัดความอิจฉาริษยา มีอารมณ์วางเฉยหรือว่าเฉยในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้ทำลายอารมณ์จิตของเรา วางไว้ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้ต้องจำ
ที่ว่าต้องจำก็เพราะว่าบางทีพวกเราก็มักจะลืมกันเหมือนกัน มักจะไปยุ่งกับจริยาของบุคคลอื่น อันนี้เป็นการไม่สมควร พูดกันมาทุกวัน ระวังให้ดี อย่าไปยุ่ง ความเป็นพระให้มันเป็นพระ อย่าทำตนเป็นพะ เป็นเณรจงเป็นเณร อย่าทำตนเป็นโจร คำว่าโจร หมายความว่า ปล้นความดีของพระพุทธศาสนา ปรับปรุงใจของตนเองเป็นสำคัญ
ถ้าทุกคนปรับปรุงใจของตนดีแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องไปยุ่งกับคนอื่น ไม่สร้างคนอื่นให้มีความเร่าร้อน ในการที่จะเพ่งโทษคนอื่นต้องรู้ตัวว่าเราเลวเกินไป นี่จงรู้สึกตัวไว้เสมอ รู้สึกตัวว่าเรามันเลว เลวมากจนกระทั่งขังอยู่ในใจไม่ได้ มันจึงอุตสาห์ไหลมาทางวาจา ไหลมาทางกาย นี่แสดงว่าความเลวมันล้นออกมาจากจิต ในข้อนี้ต้องคิดไว้เป็นประจำ อย่าทนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้วปากไม่เสีย กายไม่เสีย ถ้าปากเสีย กายเสีย ความเลวมันล้นมีความดีไม่ได้
ทีนี้สิ่งที่เราจะกันความเลวไม่ให้มันล้นออกมา ก็ต้องอาศัยพรหมวิหาร 4 คือ มีจิตเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นใครได้ดีพลอยยินดีด้วยและมีอารมณ์วางเฉย ยอมรับนับถือกฎของกรรม และพยายามเพ่งโทษโจทก์ความชั่วของตัวอยู่เสมอ อย่าไปโทษโจทก์ความชั่วของบุคคลอื่น ถ้าใจมันยังโทษโจทก์ความชั่วของบุคคลอื่น แสดงว่ายังเลวอยู่ ยังมีความอิจฉาริษยาคนอื่น ยังเลวอยู่ พูดเสียดสีค่อนแคะบุคคลอื่น ยังเลวอยู่ สร้างกรรมชั่ว ทำชั่ว ทำผิดวินัย มันยังเลวอยู่ นี่พยายามมองความเลวในใจของเราเป็นสำคัญ ถ้าใจของเราไม่เลว เราก็ไม่มีการเพ่งโทษบุคคลอื่น ไม่เสียดสีบุคคลอื่น และอารมณ์แห่งพรหมวิหาร 4 มีอยู่
เมื่อพรหมวิหาร 4 มีความละเอียดทรงตัวดี มีอารมณ์ละเอียด จึงจะให้อภัยทานได้ อภัยทานนี่มันมีกำลังหนัก คือว่าหนักกว่า พรหมวิหาร 4 ธรรมดา พรหมวิหาร 4 ธรรมดานี่เรามีจิต เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร แล้วมีรัก มีสงสาร ไม่อิจฉาริษยาเขา
สำหรับอภัยทานนี้ต้องใช้อารมณ์สูงไปกว่านั้น เพราะว่าเราต้องให้อภัยกับคนที่สร้างความชั่วให้เกิดขึ้นกับเรา แทนที่เราจะโกรธแทนที่เราจะพยาบาท เรามีจิตคิดให้อภัยในความเลวของเขา โดยมีความรู้สึกนึกคิดว่าบุคคลนี้มีสภาพเป็นทาส ไม่มีความเป็นไท
คำว่า ทาส เป็นคนชั้นต่ำ เป็นพระนักบวช ก็เป็นนักบวชชั้นต่ำ เป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นต่ำ เพราะว่ายังมีจิตเป็นทาสอยู่ ยังไม่เป็นไท อยู่ในเกณฑ์ถูกบังคับบัญชาให้ทำอยู่เสมอ
ทาสคนยังดี ยังมีโอกาสหาความดีมาใส่ตนได้ ถึงแม้ว่าเป็นทาส นี่ทาสของคน ดูตัวอย่าง นางบุญทาสี เป็นทาสของคหบดี รับใช้เจ้านายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีค่าจ้างรางวัล เพราะเป็นทาส แต่ว่านางบุญทาสีก็ยังมีจิตเป็นกุศล ยอมรับนับถือความดีขององค์สมเด็จพระทศพล นายใช้ให้ไปธุระในกิจทางไกล นางก็ทำแป้งจี่ด้วยรำกับปลายข้าว ปิ้งแล้วห่อชายพกไป หวังจะไปกินตามทางในเวลานั้น ปรากฏว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอานนท์เดินผ่านมาพอดี นางบุญทาสีมาคิดในใจว่าเราเป็นทาสเขา บางครั้งเราก็มีศรัทธาเห็นพระแต่ไม่มีอะไรจะถวาย บางครั้งเรามีของจะถวายพระ ก็ไม่เจอพระหาพระยาก วันนี้เราเจอองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระอานนท์ เรามีแป้งจี่ทำด้วยรำกับปลายข้าวผสมกัน ห่อชายพกมา เราจะเอาของอันนี้ถวายองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาใกล้ นางก็นิมนต์ให้หยุด แล้วก็แก้ชายพกเอาแป้งจี่มาใส่ลงไปในบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใส่ลงไปแล้วนางก็คิดว่าตามธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไปฉันในสำนักของพระราชาบ้าง ในสำนักของมหาเศรษฐีบ้าง ฉันแต่ของดี ไอ้ของ ๆ เราน่ะเป็นของเลว พระพุทธเจ้าคงไม่ฉัน แต่ทว่าอาศัยที่เรามีความตั้งใจเป็นกุศลองค์สมเด็จพระทศพลจะฉันหรือไม่ฉันก็ช่าง เราหวังถวายท่านเอาบุญเท่านั้น
เมื่อนางคิดแบบนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงมองดูหน้าพระอานนท์ นี่เขาคิดน่ะ เขาไม่ได้พูด พระอานนท์รู้ท่าจึงได้ปูผ้าสังฆาฏิลง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประทับที่ตรงนั้น ฉันแป้งจี่ของนางบุญทาสีในขณะนั้น กลางทางนั่นเอง นางบุญทาสีดีใจเกือบตาย นั่งลงยกมือไหว้พนมตลอดเวลาด้วยความปลื้มใจยิ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จก็โมทนา เมื่อโมทนาจบ นางบุญทาสีก็สำเร็จเป็นพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น
นี่แสดงว่า ความเป็นทาสของคน คนเป็นทาสคน ถึงแม้ว่าจะไม่มีอิสรภาพเป็นตัวของตัวเองก็จริงแหล่ แต่ทว่าใจเป็นอิสระ สามารถจะประกอบความดี จะคิดถึงความดีได้
แล้วเราก็คิดใหม่ว่า สำหรับคนที่เขามาสร้างความชั่วให้สะเทือนใจเรา นั่นเขาเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม นี่ไม่มีทางจะคืนตัวได้ ความเป็นอยู่ของเขาในปัจจุบันในชาติที่เป็นมนุษย์ เขาก็มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความเศร้าหมองจิต เพราะกิเลสมันทำจิตใจให้เศร้าหมอง ตัณหาสร้างจิตใจให้เร่าร้อน อุปาทานมีอาการเกาะความชั่วเป็นปกติ อกุศลกรรมทำความชั่วตลอดเวลา คนที่เป็นทาสของกิเลสตายแล้วไม่มีโอกาสจะเกิดเป็นคน แม้จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังเกิดไม่ได้ ต้องไปเกิดในอบายภูมิ
นี่ถ้าบุคคลผู้ใดทำใจของเราให้เร่าร้อนด้วยกายกรรม ทำด้วยกายก็ดี ด้วยวจีกรรม ทำด้วยวาจาก็ดี เราจงคิดว่าคนประเภทนี้เขาไม่ใช่คน เขาคือสัตว์นรกในอบายภูมินั่นเอง เราก็คิดว่าถ้าเราจะไปต่อล้อต่อเถียง จะกระทำตอบ เราก็จะเลวตามเขา เวลานี้จิตใจของเขาจมลงไปแล้วในนรก ถ้าเราทำตามแบบเขาบ้าง เราก็จะจมลงนรกเหมือนกัน มันไม่มีประโยชน์ จิตเราก็ระงับความโกรธด้วยอำนาจขันติหรืออุเบกขา นี่อุเบกขาเราใช้กันตรงนี้เลย เฉย เขาเลวก็ปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียว เราไม่ยอมเลวด้วย
นอกจากนั้นก็มาคิดปลงอนิจจังว่า พุทโธ่เอ๋ย นี่ตัวเขาเองกว่าจะมาเกิดเป็นคนได้น่ะมันยากแสนยาก คนที่มีจิตใจประเภทนี้ คนที่มีจิตประเภทนี้มาจากนรกก่อน เดิมทีมาจากนรก ตกนรกสิ้นระยะเวลามาหลายแสนกัป กว่าจะผ่านนรกขึ้นมาได้ แล้วก็ต้องมาเป็นเปรต มีทุกขเวทนาอย่างหนัก แล้วก็มาเป็นอสุรกาย มีแต่ความหิวโหย แล้วก็ต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานซึ่งไม่มีอิสรภาพ ใช้เวลานานแสนนานจึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เขาน่าจะรู้สึกตัวว่ากรรมชั่วเก่าของเขาที่ทำไว้ให้โทษอย่างหนัก น่าจะเป็นคนที่มีการกลับใจได้ดี สร้างความดีจากความเป็นคนให้ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม แต่ว่าเขามากลับหวนลงนรกอีก แบบนี้เป็นบุคคลที่น่าสงสาร ควรให้อภัย เพราะอะไร เพราะว่าใจของเขาไม่ใช่ใจของคนเสียแล้ว เป็นใจของสัตว์นรก ควรให้อภัยเขา ถ้าเราไปต่อสู้กับเขาต่อล้อต่อเถียงตอบแทนเขาด้วยอาการเช่นเดียวกัน อารมณ์ของเราก็จะทรามเกินไป นี่การให้อภัยทาน เขาให้อภัยกันอย่างนี้
แล้วก็จำได้ด้วยว่าถ้าบุคคลใด หรือพระองค์ใด เณรองค์ใดปฏิบัติอย่างนั้น ก็พึงรู้ตัวว่า เราจะมานั่งเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานสักกี่แสนปี มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย กลับจะมีโทษหนัก เพราะการเจริญพระกรรมฐานถ้ามีใจเลวมันกลายเป็น มารยา ล่อลวงบุคคลอื่นให้หลงผิดคิดว่าเราเป็นคนเคร่งครัดมัธยัสถ์ คิดว่าเราเป็นคนดี
ในอารมณ์ของพระสกิทาคามีเบื้องต้น ถ้าจะกล่าวกันไปอีกทีเรียกว่าสกิทาคามีมรรค ยังไม่ใช่สกิทาคาผล เป็นอันว่าเรากำลังเดินเข้าไปหาความเป็นพระสกิทาคามี อย่าลืม อาการอย่างนี้เป็นพระสกิทาคามีมรรค
ทวนต้นสักนิดว่า สกิทาคามีมรรคปฏิบัติมาเช่นเดียวกับ พระโสดาบัน คือ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่า มรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อรู้ตัวว่าจะตาย ก็มีความไม่ประมาท คิดว่าตายคราวนี้ต้องดีกว่าการเกิดมาคราวนี้ ทั้งนี้เพราะอะไรก็เพราะว่าเราเกิดมาเป็นคนแล้ว จะกลับมาเกิดเป็นคนอีกก็ต้องเป็นคนที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่มีสภาวะอย่างนี้ หรือมิฉะนั้นเราก็ควรเป็นเทวดาหรือพรหม
ฉะนั้นเมื่ออารมณ์ของพระโสดาบัน หรือ โสดาปัตติมรรค คิดอย่างนี้แล้วจึงพยายามรวบรวมกำลังใจ นึกถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ มั่นคงอยู่ในคุณทั้ง 3 ประการ คิดว่าเรามั่นอยู่ในคุณทั้ง 3 ประการนี้ เราตายไม่ลงนรกแน่ แต่ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ เราจะต้องปิดอบายภูมิ ด้วยการรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ อย่างนี้เป็นอารมณ์พระโสดาปัตติมรรค ยังไม่ใช่อารมณ์ของพระโสดาปัตติผล
พอถึงพระโสดาปัตติผล อันดับแรกพอจิตเข้าสู่ โคตรภูญาณ ในตอนนี้อารมณ์จะเริ่มเข้าจุดยอมรับนับถือกฎของธรรมดา มันจะแก่ มันจะป่วย มันจะตาย ใจจะรู้สึกว่าเป็นของะรรมดา ไม่มีความหนักใจ ใครเขาจะกล่าวนินทาว่าสรรเสริญ จะเสียดสีอะไรก็ตามรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ใช่จะไม่มีความไม่พอใจ ความไม่พอใจมีขึ้นเหมือนกัน แต่ระงับได้เร็ว ไม่โต้ไม่ตอบ เมื่อไม่โต้ไม่ตอบเขา เราก็ไม่ทำด้วยอาการอย่างนั้น เราไม่ทำ เห็นว่าเป็นอาการเลว เมื่ออารมณ์จับธรรมดาเป็นปกติอย่างนี้เรียกว่า โคตรภูญาณ เมื่ออารมณ์จับธรรมดาอย่างนี้แล้ว อารมณ์อีกส่วนหนึ่งก็จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่เป็นโคตรภูญาณเบื้องปลาย
เมื่ออารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็ถอยหน้าถอยหลังพิจารณาว่า ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง เราจะต้องยึดคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดศีลเป็นกำลังสำคัญเพื่อป้องกันอบายภูมิ แล้วจิตใจของเราก็มีความมั่นคงในพระนิพพาน ศีล 5 ประการจะไม่ด่างพร้อย สำหรับฆราวาส สำหรับเณร ศีล 10 ไม่ด่างไม่พร้อย มีอารมณ์รักษาศีลเป็นปกติจนกระทั่งมีอารมณ์ชุ่มชื่นแจ่มใส การปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรมไม่ต้องระมัดระวัง มันมีอารทรงอารมณ์ของมันเอง มีอารมณ์รักษาพรหมวิหาร 4 เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า พระโสดาปัตติผล ยังมีความรัก ยังมีความโลภ ยังมีความโกรธ ยังมีความหลงแต่ทว่าไม่ทำ ไม่ละเมิดศีล รักอยู่ในขอบเขตของศีล รวยอยู่ในขอบเขตของศีล โกรธไม่ทำร้ายเขา ไม่ฆ่าเขา เพราะกลัวศีลขาด หลงก็จริงแหล่แต่ทว่าไม่ลืมความตาย ใจมั่นคงอยู่อย่างนี้เรียกว่าพระโสดาปัตติผล
ทีนี้การเข้าถึงพระสกิทาคามีมรรคก็ยึดพรหมวิหาร 4 เป็นสำคัญ เพราะพรหมวิหาร 4 นี่ต้องมีมาจากพระโสดาบันแล้ว ถ้าไม่มีพรหมวิหาร 4 ศีลไม่บริสุทธิ์ ทีนี้พอมาถึงพระสกิทาคามีมรรค เราก็มาจับอภัยทานเป็นสำคัญ คิดแล้วมาอย่างเมื่อกี้นี้ ถ้าใจเราเลว คิดถึงใจอยู่เสมอ ใจเรา อย่าไปดูใจคนอื่น ไม่ต้องไปช่วยใครเขาขัดเกลาจิตใจของเขา ช่วยตัวเราให้มันรอดก็แล้วกัน ถ้าหากว่าเราดีจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่มีการทำให้บุคคลอื่นให้เร่าร้อน คนดีนี่มันไม่มีชั่ว
เมื่อใจของเราดี ใจทรงพรหมวิหาร 4 ใจมีอภัยทาน มันมีอะไรบ้างในจิตที่เราจะไปคิดประทุษร้ายบุคคลอื่น ทั้งทางกายและวาจาทำเขาให้เร่าร้อน มันก็ไม่มี อาการอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นสกิทาคามีมรรค ยังไม่ถึงสกิทาคามีผล แล้วเรื่องสกิทาคามีผลนี่จะพูดกันวันหลัง
ต่อจากนี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อารมณ์ของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี

อารมณ์ของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี

จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน

การทรงจิตในด้านหิริและโอตตัปปะ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ในตอนก่อนได้พูดถึงจริยาของการปฏิบัติให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่ในตอนนั้นรู้สึกว่าจะเป็นพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุงมากกว่า ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเราใช้การพิจารณา
อันดับแรก พิจารณาถึงความตายเป็นอารมณ์ การนึกถึงความตายนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท ต้องถือว่าเป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องคิดเป็นปกติ ถ้าลงได้คิดถึงความตายแล้วคนมันก็เลวได้ยาก ที่เลว ๆ นั่นน่ะ โดยมากไม่ได้นึกถึงความตาย จึงได้ทำความชั่วกันทุกอย่าง
ขาด หิริ และ โอตตัปปะ
หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ความชั่ว
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่ว จะทำความเร่าร้อนให้เกิด
ที่เลวกันมาได้ก็เพราะอาศัยคุณธรรมทั้งสองประการนี้ไม่มีในจิต คนเราถ้าขาดหิริและโอตตัปปะ ก็เป็นอันว่าไม่ใช่มนุษย์เพราะว่า มนุษย์ แปลว่า มีใจสูง ยิ่งเป็นพระภิกษุสามเณรด้วยแล้วก็เลวมากเต็มที
ฉะนั้นคำสอนแต่ละคราว ทั้งตอนเย็น ตอนเช้า ตอนกลางคืน ตอนดึกก็ตาม มันจะเตือนกันอยู่เสมอว่า ให้นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จะได้ประกอบความดี องค์สมเด็จพระชินสีห์เองก็ได้ทรงตรัสแก้พระอานนท์ว่า
"อานันทะ ดูด่อนอานนท์ เราเองนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก"
นี่คนดีอย่างพระพุทธเจ้าเป็นจอมอัจฉริยะ หรือว่าเป็นจอมของสมณะทั้งหมด พระองค์ก็ยังกำหนดจิตจับความตายเป็นอารมณ์ ไม่มีความประมาทในชีวิต เพราะอะไร
ก็เพราะว่า คนถ้านึกถึงความตาย ก็ต้องมีความรู้สึกว่า ถ้าเราจะอยู่ ก็อยู่อย่างคนดี ถ้าตายเป็นผีเราก็จะเป็นผีดี ถ้าไม่นึกถึงความตาย มันก็ขาดหิริโอตตัปปะ ถ้าอยู่อย่างคนก็เป็นคนเลว ถ้าตายเป็นผีมันก็เป็นผีเลว คือ เป็นผีในนรก เป็นผีประเภทเปรต เป็นผีประเภทอสุรกาย เป็นผีประเภทสัตว์เดรัจฉาน นี่ผลร้ายสำหรับคนที่ไม่นึกถึงความตายและขาดหิริโอตตัปปะ ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายเมื่อสร้างความดี ก็ทรงจิตไว้ในด้านหิริและโอตตัปปะ ควบกับความรู้สึกตัวว่าเราจะต้องตาย
ความจริง ความตายนี่มี 2 อย่าง ตายประเภทสิ้นลมปราณ นั่นอย่างหนึ่ง ตายประเภทที่มีลมปราณ นั่นอย่างหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น พระนางสามาวดีกับหญิง 500 ถูกนางมาคันธิยาอิจฉาริษยา ในที่สุดถึงกับจ้างให้น้าชาย หรืออา เข้าไปเผาปราสาทนางกับหญิง 500 ให้ตายพร้อมกัน แต่หญิงทั้ง 500 นั้นมีความไม่ประมาทในชีวิต เพราะอารมณ์จิตเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว จึงได้แนะนำกันว่าพวกเราทั้งหลายจงอย่าโกรธในพระนางมาคันธิยา จงอย่าโกรธในมาคันธิยาพราหมณ์ผู้เผาปราสาท จงมีจิตคิดให้อภัยแก่คนทั้งสอง เร่งรัดรวบรวมกำลังใจสร้างความดีให้สูงยิ่งขึ้นไป ในขณะที่ไฟใกล้เข้ามาจวนจะเผาเข้ามาถึงกาย ก็ปรากฏว่าบางคนได้เป็นพระสกิทาคามี บางคนบรรลุอนาคามี
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะรู้ว่าความตายจะเข้ามาถึงในเดี๋ยวนี้ ท่านทั้งหมดทั้ง 500 คนไม่มีความประมาทในชีวิต รวบรวมกำลังจิตปลงขันธ์ 5 ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในที่สุดมันจะต้องตายแล้ว ตายดีตายชั่วมันก็ตาย
การตายแบบนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ เพราะพระสงฆ์ไปรายงานให้ฟังว่า หญิง 500 มีพระนางสามาวดีเป็นประธานต้องถูกไฟเผาตาย องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงตรัสว่า
ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิง 500 ที่ถึงว่าจะตายแล้วก็เหมือนกับคนที่ไม่ตาย"
เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อมีชีวิตอยู่เขาก็สร้างแต่ความดี เมื่อตายไปแล้วก็ไปเป็นผีดี คือ เป็นพระอริยะเจ้าเบื้องสูง เป็นพระสกิทาคามีบ้าง เป็นพระอนาคามีบ้าง
เป็นอันว่าท่านที่เป็นสกิทาคามีเรื่องอบายภูมิไม่ต้องพูดกัน ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวก็ไปนิพพาน ท่านที่เป็นอนาคามีตายไปเป็นเทวดาแล้วนิพพานบนนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์กล่าวว่าเขาผู้นั้นยังไม่ตาย คือ ไม่ตายจากความดี มีความดีก้าวขึ้นสูงกว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ปกติ
สำหรับพระนางมาคันธิยา ก็ถูกพระเจ้าอุเทนบรมกษัตริย์สั่งประหารชีวิตพร้อมด้วยพวกและญาติ ในฐานะที่เป็นจอมอิจฉาริษยาคนอื่น คือ อิจฉาริษยาพระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิง 500 ที่เป็นบริวาร จนกระทั่งถึงความตาย ในที่สุดพระเจ้าอุเทนบรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอก็สั่งให้จับพระนางมาคันธิยากับบรรดาญาติทั้งหลาย โดยเฉพาะญาติทั้งหลายเหล่านั้นให้หลุมฝังลงไปครึ่งตัวแล้วให้เอาฟางสุมให้เลยหัว สั่งเอาไฟจุดแล้วก็ใช้ช้างเทียมไถเหล็กเดินไถพวกนั้นขาดกลางตัว
สำหรับนางมาคันธิยา จอมอิจฉาริษยาเป็นหัวหน้าคนในด้านทำลายความดีของบุคคลอื่น พระเจ้าอุเทนบรมกษัตริย์พระบาทท้าวเธอให้จับผูกมือสองมือ แขวนเท้าหวิด ๆ กับพื้นให้เอาผ้าม้วน ๆ ยัดใส่ปาก แล้วเชือดเนื้อทีละชิ้น เอามาทอดน้ำมัน ทอดสุกก็บังคับให้นางมาคันธิยากินจนกว่าจะตาย
การตายแบบนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์กล่าวว่า นางมาคันธิยาในสมัยที่ยังไม่ตายก็เหมือนกับบุคคลที่ตายแล้ว คือ มีแต่ความชั่วไม่มีความดี ตายจากความเป็นสุข มีแต่ความเร่าร้อน
นี่การที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นพระโสดาบัน เราก็ต้องนึกถึงความตายเป็นปกติ ถ้าพวกเราเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ก็รู้สึกว่าเป็นที่น่าเสียดาย อยู่ในสถานที่เช่นนี้ รับฟังธรรมะกันทุกวัน วันละหลายเวลา ยังจะคบกับความชั่ว คือ ขาดหิริและโอตตัปปะ เข้ามาเป็นประจำ ตามที่เคยปฏิบัติกันมาในกาลก่อน ก็รู้สึกว่าจะเลวเกินไปสำหรับการเกิดเป็นคน ไม่สมควรจะเอาภาคของมนุษย์เข้ามาสวมกาย เอาใจเข้ามาสิงในภาคของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรก็จะเลวมากที่สุด เพราะว่าภิกษุสามเณรจะต้องมี อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ฉะนั้น จงพยายามรวบรวมกำลังใจให้ทรงไว้เฉพาะความดี อย่าปล่อยให้ความเลวมันหลั่งไหลเข้ามาสู่ใจอีก เพราะความเลวไม่ให้ผลความสุขแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ มีอย่างเดียวคือ ความทุกข์ ความเร่าร้อน เช่นเดียวกับนางมาคันธิยา จงอย่านึกว่าจะมีใครเขาปรานีในฐานะที่เราเป็นคนเลว มันหาไม่ได้ โลกนี้ทั้งโลกไม่มีใครเขาเมตตาปรานีคนเลว
ทีนี้การลงโทษ เราก็จงอย่าคิดว่าคนอื่นจะต้องมาลงโทษเรา ก่อนที่คนอื่นจะลงโทษ กรรมที่เราทำความชั่วมันก็ทำความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นแก่เรา ใครเขาพูดความชั่วคราวใดเราก็สะดุ้งเพราะเรามันเลว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อัตตนา โจทยัตตานัง" จงเตือนตนไว้เสมอ และจงโจทก์ตน กล่าวโทษตนไว้เป็นปกติ หาความชั่วของตัว อย่าไปหาความชั่วของบุคคลอื่น ถ้าเลวมากเท่าไหร่ เราก็เพ่งเล็งความเลวของบุคคลอื่นมากเท่านั้น ถ้าเราดีมากเท่าไหร่เราก็ไม่มองเห็นความเลวของบุคคลอื่น เพราะยอมรับนับถือกฎของกรรม ที่เรายังไปแส่หาความเลวของบุคคลอื่น เสียดสีเขาบ้าง พูดจากระทบกระเทียบเขาบ้าง ทำลายความสุขใจเขาบ้าง นั่นแสดงว่า เรามันเลวที่สุดของความเลว คือ ความเลว มันไม่ได้ขังอยู่เฉพาะในใจ มันไหลออกมาทางกาย ไหลออกมาทางวาจา เพราะมันล้น นี่ขอทุกท่านจงจำไว้ อย่าไปมองดูความเลวของคนอื่น มองดูความเลวของตน ไม่ต้องไปปรับปรุงบุคคลอื่นเขา ปรับปรุงเราเองให้มันดีที่สุด
ทีนี้ จิตที่มันจะดีมันดีตรงไหน ก็ดีตรงว่านึกถึงความตาย มีหิริและโอตตัปปะ อายความชั่ว เกรงกลัวความชั่ว ความชั่วมันมีอะไรบ้าง เราก็รู้กันอยู่แล้ว เราต้องเป็นผู้มีศีล ถ้าทำลายความสุขของบุคคลอื่นจะชื่อว่าเราเป็นผู้มีศีลได้ยังไง ทำลายความดีของบุคคลอื่น เราจะเป็นผู้มีศีลได้ยังไง
จิตของเรานอกจากจะทำอธิศีลสิกขาแล้ว ก็ต้องเป็นอธิจิตสิกขา อธิจิตสิกขา คือ ทรงจิตให้อยู่ในความดีตลอดเวลา มีพรหมวิหาร 4 เป็นเครื่องประจำใจ ถ้าเราอายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว ก็ต้องใช้พรหมวิหาร 4 เข้ามาประคับประคองอารมณ์ของจิตเมื่อพรหมวิหาร 4 คือ
เมตตา ในคนทั้งหลายและสัตว์ทั้งหมด
กรุณา มีความสงสารปรารถนาเกื้อกูลจะให้มีความสุข
มุทิตา มีจิตใจอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เมื่อเห็นบุคคลอื่นได้ดีก็พลอยยินดีด้วย
อุเบกขา วางเฉยในเมื่อกฎของกรรมหรือกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมันเกิดขึ้น มันสุดวิสัยที่จะพึงระงับได้ เราก็วางเฉยไม่ดิ้นรน คือ ไม่ซ้ำเติมเมื่อบุคคลอื่นได้รับความทุกข์
นี่ถ้าอาการทั้ง 4 อย่างนี้มีอยู่ในใจของเรา ความชั่วมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ที่เราต้องชั่วกันเพราะว่าขาดหิริและโอตตัปปะ ขาดนึกถึงความตาย ขาดพรหมวิหาร 4 ถ้าขาดสิ่งทั้ง 3 ประการนี้ ศีลเรามันก็ไม่มี จะทรงเพศเป็นพระ จะทรงเพศเป็นเณร จะทรงเพศเป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็สักแต่ว่าพึงมีเพียงเพศเท่านั้น อย่างนี้พระพุทธเจ้าถือว่าเถน เถนแปลว่าหัวขโมย คือขโมยเพศของสมณะมาใช้ แต่น้ำใจจริง ๆ นั้นเลวยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เขาถือว่าเป็นสัตว์อยู่แล้วมันจะรบกวนกันเขาก็เป็นสัตว์อยู่ในอบายภูมิ แต่คนเรามีน้ำใจคล้ายสัตว์ไม่ยอมรับนับถือความดีซึ่งกันและกัน มันก็เลวกว่าสัตว์ นี่ต้องประณามตนอย่างนี้ การประณามตนต้องประณามให้หนัก อย่าประณามเบา อย่ามองในด้านของความดี
ถ้าจิตของเราทรงอยู่ในพรหมวิหาร 4 แล้วมีอะไรบ้างที่มันจะเกิดขึ้น นั่นก็คือ ศีลบริสุทธิ์ ไม่ต้องระมัดระวังศีล ความเป็นผู้มีเหตุมีผล มีความเคารพในองค์สมเด็จพระทศพลก็มีพร้อมบริบูรณ์ เพราะอะไร เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ ก็แสดงว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ เพราะว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงแนะนำให้จิตอยู่ในขอบเขตนี้ เรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระชินสีห์เป็นต้น เราจึงมีศีลบริสุทธิ์ เราจึงรู้จักอายความชั่วเกรงกลัวความชั่ว จึงได้มีการประกอบความดี คือ จิตทรงพรหมวิหาร 4 มีหิริโอตตัปปะ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ อยู่ที่ไหนก็มีแต่ความเยือกเย็น มีแต่ความเป็นสุข เราก็เป็นสุข บุคคลอื่นก็เป็นสุข เพราะกายไม่เสีย ปากไม่เสีย ทั้งนี้เพราะว่าใจไม่ไม่เสีย ถ้ากายเสีย ปากเสีย ก็แสดงว่าใจมันเสีย ๆ มากจนล้นมาถึงกาย ถึงวาจา นี่เป็นอันว่าถ้าทรงคุณธรรมอย่างนี้ได้ ความเป็นพระโสดาบันก็ย่อมปรากฏ
ทีนี้สำหรับวันนี้ขอดูเวลาก่อน พอจะมีเวลาพูดไหม ขอพูดต่อไปว่า เราพูดกันมาถึงด้านพระโสดาบันว่า ประกอบไปด้วยองค์ 4 ประการ คือ 
1. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
2. มีความเคารพในพระธรรม
3. มีความเคารพในพระสงฆ์
4. มีศีลบริสุทธิ์
นี่เป็นองค์ของพระโสดาบัน แต่องค์ทั้งหลายอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยมรณานุสสติกรรมฐานเป็นเบื้องต้นที่เราคิดว่าเราจะต้องตาย จงอย่าคิดว่าอีกสองวันตาย สามวันตาย จงคิดไว้เสมอว่าเราอาจจะต้องตายเดี๋ยวนี้ และตายก็จงตายดี ตายอย่างพระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิง 500 อย่าเป็นมีลมปราณแต่ว่ายืนตายจากความดีอย่างเหล่าของนางมาคันธิยา
ทีนี้สำหรับอนุสติที่จะพึงปฏิบัติในความเป็นพระโสดาบันก็คือ
1. มรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์
2. พุทธานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
3. ธัมมานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระธรรมเป็นอารมณ์
4. สังฆานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระสงฆ์เป็นอารมณ์
5. สีลานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของศีลเป็นอารมณ์
6. พรหมวิหาร 4 อย่างนี้ไม่เรียกว่าอนุสติ ใคร่ครวญในพรหมวิหาร 4 จัดเป็นกรรมฐานกองหนึ่งเป็นอารมณ์
7. อุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์
ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งภาวนา ให้ใช้จิตควบคุมอยู่ตลอดทั้งเวลาลืมตาและหลับตา นี่นักปฏิบัติที่ดีเขาใช้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าเวลาหลับตาทำท่าจะเป็นคนดีแต่พอลืมตาขึ้นมาแล้วความอัปรีย์มันก็เกิดแก่จิต อิจฉาริษยาบุคคลอื่น กลั่นแกล้งบุคคลอื่น คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น อย่างนี้มันใช้อะไรไม่ได้ ตายแล้วไปสู่อบายภูมิ อย่าว่าแต่พระโสดาบันเลย กลับมาเป็นคนมันยังเป็นไม่ได้ เข้าใจจิตตามนี้
ทีนี้พูดกันไปแล้วในด้านของพระโสดาบัน ขอต่อไปอีกนิดถึงอารมณ์ของ พระสกิทาคามี สำหรับพระสกิทาคามีน่ะ ทำให้จิตละเอียดลงไปกว่านั้น คือ ระงับโลภะ ความโลภ ระงับโทสะ ความโกรธ ระงับโมหะ ความหลง ให้เบาบางลง ยังไม่หมด คือ ความโลภยังมีอยู่ แต่ว่าเพลาลงไป ความโกรธยังมีอยู่ ยับยั้งไว้ได้เร็ว ความหลงยังมีอยู่ มีอาการเพลาตัว เป็นอันว่าทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลงมันบาง บางกว่าพระโสดาบัน ท่านก็ เรียกว่า สกิทาคามี สำหรับสังโยชน์ก็มีความประพฤติเหมือนกัน แต่จิตละเอียดกว่า
ทีนี้ถ้าหากว่าเราระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้ทีละตัวมันก็ลำบาก เราก็มายืนจุดศูนย์กลาง ก็คือ ทรงพรหมวิหาร 4 เคร่งครัด มีความมั่นคงในพรหมวิหาร 4 มากขึ้น มีหิริและโอตตัปปะมากขึ้น นึกถึงความตายเห็นชัด มีอารมณ์ทรงตัวมากขึ้น ทีนี้เมื่อเรามีพรหมวิหาร 4 มีหิริและโอตตัปปะ นึกถึงความตาย ใจมันก็เลิกโลภ เลิกโลภตรงไหน เพราะมันจะตาย รู้ ทำตะเกียกตะกายเหมือนกับว่าเกินพอดี ถ้าหากว่าหาอาหารหรือหาทรัพย์สินมาด้วยสัมมาอาชีวะ ไม่จัดว่าเป็นความโลภ ต้องเอาอาการเกินพอดี ที่สำคัญคือ อยากจะได้ของบุคคลอื่น แม้ไม่ทำแต่ใจมันก็อยาก อยากจะโกงเขา อยากจะข่มเหงเขา อยากจะอิจฉาริษยาเขา อยากทุกอย่างซึ่งเป็นด้านของความเลว อันนี้ไอ้ตัวอยากตัวนี้เราตัด งดมันเสียได้ด้วยอำนาจของพรหมวิหาร 4 หิริ และ โอตตัปปะ และ มรณานุสสติกรรมฐาน เอาอารมณ์ 3 ประการเข้าควบคุม คิดว่าจะอยากได้ของเขาไปทำไม ได้มาแล้วมันก็ตาย ไม่ได้มันก็ตาย มีเท่านี้ก็พอกิน หากินแบบนี้ไม่ได้มีได้เท่าไหร่พอใช้พอกิน หากินให้มันรวยกว่านี้ หากินด้วยความสุจริตใจ ไม่มีโทษ เพราะยังเป็นสกิทาคามี
และอารมณ์อีกอันหนึ่งสำหรับพระอนาคามี ที่มีความสำคัญก็คืออภัยทาน ให้อภัยแก่ผู้ผิด เราเองก็พยายามไม่ทำผิดอยู่เสมอ ทรงอารมณ์ปกติในมรณานุสสติกรรมฐานเคร่งครัด เคารพในคุณพระรัตนตรัยเคร่งครัด มีหิริและโอตตัปปะเคร่งครัด ศีลเคร่งครัด และมีพรหมวิหาร 4 แข็งกร้าวในจิต ไม่ยอมให้จิตตกอยู่ในอำนาจของความเลว นึกถึงการให้ทาน การบริจาคอยู่ตลอดเวลา ตั้งหน้าปรารถนาจะสงเคราะห์คนอื่นให้มีความสุข เป็นอุปสมานุสติ การนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีจิตใจรักพระนิพพานอย่างยิ่ง
เพียงเท่านี้จิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ภิกษุและสามเณร ถ้าทรงอารมณ์จิตได้อย่างนี้จริง ๆ ท่านก็เป็นสกิทาคามี ซึ่งมันเป็นของไม่ยาก ที่ยากก็เพราะเราอยากเลว ถ้าคนอยากดี พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีไม่มีอะไรยาก สวัสดี

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

อารมณ์ของพระโสดาบัน

อารมณ์ของพระโสดาบัน

จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน

โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้พากันสมาทานพระรัตนตรัยแล้ว ต่อไปนี้ ขอให้รวบรวมกำลังใจให้อยู่ในเขตของกุศล คือ อันดับแรกตั้งใจฟังเสียง ขณะที่ได้ยินเสียงชัดรู้เรื่องทุกอย่างทุกถ้อยคำ อย่างนี้ชื่อว่า จิตเป็นสมาธิ เพราะคำว่าสมาธิแปลว่า ตั้งใจไว้เฉพาะเหตุใดเหตุหนึ่ง นี่เราตั้งใจฟังเสียง เมื่อฟังแล้วก็คิดตามเป็นตัว ปัญญา
วันนี้พูดต่อถึงทางสายเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อวานนี้ได้กล่าวไว้แล้วตามพระพุทธพจน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า อธิศีลสิกขา เป็นกำลังของพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี อธิจิตสิกขา เป็นกำลังของพระอนาคามี อธิปัญญาสิกขา เป็นกำลังของพระอรหัตผล นี่ถ้าเราเข้าใจรวบรัดในการปฏิบัติพระกรรมฐาน เราก็จะมีกำลังใจเข้าถึงมรรคผลได้โดยง่าย แต่ทั้งนี้ก็ต้องเว้นไว้แต่ว่าเว้นจาก ปลิโพธิ และ ติรัจฉานกถา
จงจำไว้ว่าอารมณ์ใดที่ประกอบไปด้วยความรัก ประกอบไปด้วยความโลภ ประกอบไปด้วยความโกรธ ประกอบไปด้วยความหลง อันนั้นพระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็น อารมณ์ของ ติรัจฉาน คำว่า ติรัจฉาน ก็หมายความว่า ไปขวาง เดรัจฉานนี่เขาแปลว่าไปขวาง ๆ คือ มันขวางจากทางดี มันไม่ตรงดี เพราะว่าอาการอย่างนั้นเป็นอาการของเดรัจฉาน ใจคิดเป็นใจเดรัจฉาน วาจากล่าวติรัจฉานกถาเป็นวาจาของเดรัจฉาน อาการทำเป็นอาการของเดรัจฉาน ใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์
ฉะนั้นอาการของเดรัจฉานทั้งหมด อันพึงจะเกิดทางจิตก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี จงอย่ามีในสำนักของเรา จงระมัดระวัง กำลังใจเป็นสำคัญ อย่าเอาอารมณ์ของเดรัจฉานเข้ามาใช้ในจิตและจงอย่าไปเพ่งเล็งบุคคลอื่น จงอย่าสนใจกับอารมณ์ของคนอื่น จงอย่าสนใจกับจริยาของบุคคลอื่น ให้พยายามปรับปรุงใจตนเองเป็นสำคัญ และให้ทรงพรหมวิหาร 4 มีอิทธิบาท 4 ฟังแล้วก็ต้องจำ จำแล้วก็ต้องประพฤติปฏิบัติ จงจำไว้ ถ้าจำไม่ได้ก็จงรู้ตัวว่าเลวเกินไป คนเลวเขาไม่เรียกว่า คน เขาเรียกว่า สัตว์ในอบายภูมิ
ต่อไปนี้ให้ทุกคนควบคุมตัวเองเป็นสำคัญ อย่าเข้าไปยุ่งกับบุคคลอื่น ทุกคนที่เข้ามาในสำนักควรจะปฏิบัติอยู่ในความดี และ ควบคุมตัวเองเป็นสำคัญ อย่าทำจิตเสีย อย่าทำวาจาเสีย อย่าทำใจเสีย ถ้าอยากจะเสียไปเสียที่อื่น อย่ามาเสียที่นี่ เพราะอะไร
เพราะว่าเราสอนเพื่อความอยู่เป็นสุข เราปฏิบัติกันเพื่อความอยู่เป็นสุข ความเป็นสุขเกิดจากอะไร
หนึ่ง อธิศีลสิกขา มีศีลเป็นปกติ คนที่เขามีศีลน่ะ เขาไม่สร้างความยุ่งให้เกิดกับบุคคลอื่น เพราะว่าเขามองหาความเลวของตัวเป็นสำคัญ ถ้าจิตของเราดีละก็มันก็ไม่ยุ่ง กายก็ดี วาจาก็ดี ถ้าจิตของเราเลว วาจาก็เลว กายก็เลว ทุกคนจงสำนึกตัวไว้ อย่าให้มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการผิดระเบียบตามพระพุทธศาสนาและตามระเบียบวินัยแล้วเราก้ควบคุมศีล
ศีลของเรามีเท่าไรปฏิบัติให้ครบ ทำไว้ให้มันครบ ธรรมะมีเท่าไรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน มีเท่าไรปฏิบัติให้ครบ อารมณ์สมถะมี 40 ปฏิบัติให้มันครบองค์ วิปัสสนาญาณมีเท่าไรปฏิบัติให้ครบ ถ้าพยายามคิดประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีเวลาที่จะไปยุ่งกับบุคคลอื่น ถ้าเราดีเสียแล้วก็ไม่สร้างความยุ่งยากความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่น
อาการที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่นก็ชื่อว่าไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง คนอื่นเขามีอารมณ์เป็นสุขเราก็มีอารมณ์เป็นสุข ถ้าเราทำคนอื่นเขาให้มีความเร่าร้อน เราก็ได้รับอารมณ์เร่าร้อนเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้ากล่าวว่า "ปูชโก ละภะเต ปูชัง วันทโก ปฏิวันทะนัง" ผู้บูชาย่อมได้รับการบูชาตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้ไหว้ตอบ ถ้าเรามีพรหมวิหาร 4 เสียอย่างเดียว มันจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นความเร่าร้อนมันก็ไม่เกิดขึ้น
ขอทุกท่านพยายามควบคุมกำลังใจ ประพฤติปฏิบัติให้ถูกแบบ เพราะสถานที่นี้เป็นพุทธเขต คือ เป็นเขตของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าย่อมไม่เลี้ยงคนชั่ว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องแต่คนดี นิคคหะ ปัคคหะ เป็นจริยาของพระพุทธเจ้า ใครดีก็ยกย่องสรรเสริญ ความดีเป็นส่วนของความดี ใครผิดพระพุทธเจ้าลงโทษ อย่าเอาความดีเข้ามาบวก ถือว่าทำความดีแล้วทำความชั่วไม่มีโทษอันนี้ไม่ได้ มันคนละเรื่อง นี่เป็นการควบคุมกำลังใจของเราให้เข้าถึงพระโสดาปัตติผล
อารมณ์แห่งพระโสดาปัตติผลนี่ความจริงมันเป็นหญ้าปากคอกแล้วพูดกันง่าย ๆ ก็เป็นของเด็กเล่นสำหรับผู้ใหญ่ เราบวชกันเข้ามาแล้ว เวลานานพอสมควรทำไมไม่รักษาอารมณ์นี้ให้ได้ นี่พูดสำหรับคนชั่ว สำหรับที่ท่านมีอารมณ์ดีก็มีมาก ที่รู้ว่าอารมณ์ชั่วก็เพราะว่า ปากชั่ว จริยาเกิดทางกายชั่ว มันมาจากใจชั่ว ให้รู้ตัวความชั่วของตัวไว้ ทีนี้เราจะปราบความชั่วของเราได้ยังไง ก็ทรงพรหมวิหาร 4 ไว้เป็นสำคัญ ถ้ามีพรหมวิหาร 4 แล้วหาชั่วไม่ได้ศีลก็บริสุทธิ์
ระโสดาบัน ท่านบอกว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ คำที่จะเคารพจริง ๆ หรือการที่จะเคารพจริง ๆ ก็คือ คุมศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตให้เกิดขึ้น ทรงกายสุจริต ทรงวจีสุจริต ทรงมโนสุจริต นี่เป็นจริยาของฆราวาส หรือของพระ สำหรับพระเณร มีศีลห้ามากอยู่แล้วก็ไม่ควรจะเลว ถ้าเลวละก็ไปเปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉาน สู้สัตว์เดรัจฉานไม่ได้ ตามที่พูดแล้วเมื่อคืนนี้
เมื่อคืนเราอธิบายกันมาแล้วว่า อาการพระโสดาบันก็มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลห้าบริสุทธิ์ เพราะมีอธิศีลสิกขาเป็นสำคัญ เป็นปัจจัยของพระโสดาบันกับสกิทาคา ในเมื่อพูดกันตอนนั้น และก็ปรารภกันบอกว่าการปฏิบัติอย่างนี้ไม่ต้องสนใจเรื่องจริต จริตมันจะเป็นยังไงก็ช่าง เราสนใจอยู่อย่างเดียวว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ มีนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วก็มีมรณานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ นึกถึงความตายไว้เป็นปกติ ว่าตายแล้วเราจะไม่ยอมไปในที่ชั่ว
ทีนี้ถ้าเราจะตายให้มันดี มันก็ต้องมีกายดี วาจาดี มีใจดี ถ้าหากว่าเรามีกายชั่ว วาจาชั่ว ตายแล้วมันก็ชั่ว คือ พระโสดาบัน คุมกำลังใจให้ทรงอยู่อยู่ในความดีเท่านั้น ยังไม่สามารถจะตัดความโลภได้ ยังไม่สามารถจะตัดความรักได้ ยังไม่สามารถจะตัดความหลงได้ แต่สิ่งทั้ง 4 ประการนี้ยับยั้งอยู่ในขอบเขตของศีล มีวงแคบเข้ามา
เมื่อคืนนี้เราพูดกันถึงอาการที่จะทรงพระโสดาบัน ถ้าใครเขาจะถามหรือไม่ถาม เราก็สร้างความเข้าใจของเราเอง เพราะคำว่า พระโสดาบันนี่ไม่ต้องการสมาธิหรือยังไง ทำไมจึงไม่พูดถึงสมาธิกันบ้าง เป็นอันว่าโสดาบันไม่ต้องหาสมาธิจิต หรือคนอื่นเขาถามหรือท่านจะถามก็ตามใจ หรือเขาไม่ถามก็ได้ ก็เตรียมแก้ความเข้าใจตัวเองเช้าไว้ ก็จงตอบเขา บอกว่า
คนที่นึกถึงพระพุทธเจ้า คุณความดีของพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ไม่ขาดในอารมณ์ของจิต อันนี้เป็นการเจริญพระกรรมฐานเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน
ปรารภคุณความดีของพระธรรม ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปกติ ไม่ลืมความดีในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว อันนี้เป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน 
เรานึกถึงคุณความดีของพระอริยสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จนได้บรรลุมรรคผลเราก็แสวงหาความดีตามนั้นตามท่าน ปฏิบัติตามท่านนึกถึงท่านเข้าไว้ อย่างนี้เป็น สังฆานุสสติกรรมฐาน
เรานึกถึงศีลที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงมอบให้ แนะนำสั่งสอนเรา ระมัดระวังศีลทุกข้อทุกสิกขาบทให้ปรากฏอยู่ครบถ้วนอยู่ด้วยดี อย่างนี้เป็น สีลานุสสติกรรมฐาน
เรามีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องตายแน่ จะตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายด้วยอาการปกติ หรือด้วยอุบัติเหตุก็ตาม ก็ขึ้นชื่อว่าจะต้องตาย เราไม่ประมาทในชีวิตก่อนที่เราจะตาย จะกอบโกยความดีใส่กำลังใจไว้ให้มันครบ พระพุทธเจ้าทรงสอนแบบไหน ปฏิบัติให้จบ ให้ครบทุกประการ ให้บริบูรณ์ทั้งหมด ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต อย่างนี้เป็น มรณานุสสติกรรมฐาน
เป็นอันว่าด้านสมาธิจิตของพระโสดาบันนับไปให้ดีว่ามีอะไรบ้าง
1. พุทธานุสติ     2. ธัมมานุสติ
3. สังฆานุสติ      4. สีลานุสติ
5. อุปสมานุสติ    6. มรณานุสติ
ทีนี้การเจริญพระกรรมฐานพร้อม ๆ กันเขาทำกันยังไง การที่จะเป็นพระโสดาบันมีกฎบังคับว่า อารมณ์จิตต่ำกว่าปฐมฌานจะเป็นพระโสดาบันไม่ได้ หรือว่าจะเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ อย่างเลวที่สุดจิตต้องทรงอยู่ในปฐมฌานเป็นปกติ และอย่างดีที่สุดจิตก็จะทรงอยู่ในฌาน 4 เป็นปกติ แต่ฌาน 4 นี่ปกติไม่ได้ ปกตินี่หมายความว่า ถึงเวลาที่เราจะใช้ ในยามปกติธรรมดาเราพูด เราคุย เราทำงาน จิตต้องอยู่ในปฐมฌานเป็นปกติ แล้วอารมณ์ปฐมฌานเป็นอย่างไร
อารมณ์ปฐมฌานก็คือว่า เมื่อกิจการงานอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับเรา อารมณ์นี้จะคุมอยู่ในอนุสติทั้งหกตลอดเวลา เราจะไม่ลืมพระพุทธเจ้า เราจะไม่ลืมพระธรรม เราจะไม่ลืมพระสงฆ์ เราจะลืมศีล เราจะไม่ลืมพระนิพพาน เราจะไม่ลืมนึกถึงความตาย
นี่ถ้าทุกคนทำได้อารมณ์อย่างนี้ มันจะมีบ้างไหมที่จะสร้างเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น จะไปยุ่งกับจริยาของบุคคลอื่น จะไปยุ่งกับอาการของบุคคลอื่น จะไปติโน่นติงนี่ ว่าคนนั้น ด่าคนนี้ เสียดสีคนโน้นเสียดสีคนนี้ มันจะมีไหม แล้วมีการทนงตน มันจะมีไหม ไม่มี สำหรับคนดีประเภทนี้
ความจริงพระโสดาบันไม่มีอารมณ์สูงพิเศษอะไรเลย ถ้าเราเป็นชาวบ้านก็เป็นชาวบ้านชั้นดีเท่านั้น ถ้าเป็นพระก็เป็นพระชั้นเลว ไม่ใช่พระชั้นดี พระโสดาบันนี่เป็นพระเริ่มต้น เป็นพระเด็ก ๆ ถ้าเป็นพระก็เรียกว่าพระชั้นเลว ถ้าเป็นฆราวาสก็เป็นฆราวาสชั้นดี แต่ถ้าอารมณ์ของเราทรามลงกว่าพระโสดาบันล่ะ ถ้าเป็นพระ ก็เลยเป็นพระเดรัจฉานไป ถ้าฆราวาสก็จัดว่าเป็นปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส เป็นพาลชน คนโง่ โง่เพราะอะไร โง่เพราะไม่คุมความดี ไม่หาความสุขให้เกิดแก่ตน ทั้งนี้ก็เพราะว่า คนที่เข้าถึงพระโสดาบันน่ะมีอารมณ์เป็นสุขปกติ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คำว่าไม่ถือมงคลตื่นข่าว ก็คือเขาเฮที่ไหนไปที่นั่น เขาลือที่โน่นดีไปที่โน่น เขาลือที่นี่ดีมาที่นี่ ผลที่สุดหาดีอะไรไม่ได้ จับไม่ถูก มีอารมณ์ไม่แน่นอน มีสติไม่ตรง อย่างนี้ไม่ใช่พระโสดาบัน
สำหรับพระโสดาบันน่ะอยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั่น ที่ไหนไม่สำคัญ คำสอนของอาจารย์องค์ไหน พระองค์ไหน องค์ไหน ๆ ก็ไม่สำคัญ ถ้าตรงต่อคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมสุคต พระโสดาบันยอมรับ ย่อมไม่ถือว่าอาจารย์เป็นสำคัญ ถือพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปนั่งถือตัวบุคคลว่า พระองค์นั้นสอนดี อาจารย์องค์นี้สอนไม่ดี เขาไม่ถืออาจารย์เป็นสำคัญ เพราะท่านถือว่าเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรส
ฉะนั้น ท่านที่ถึงพระโสดาบันแล้วจึงยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระพุทธบิดา
อย่าง พระนางสามาวดี เมื่อพระเจ้าอุเทนบรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอทรงขอขมา เพราะการหลงผิด ลงโทษพระนางสามาวดีโดยไม่มีโทษ แต่โทษไม่เกิด เพราะลูกศรไม่ทำอันตรายพระนาง พระเจ้าอุเทนก้มลงจะกราบขอขมา พระนางบอกว่าขอขมาหม่อมฉันไม่ได้ ต้องไปขอขมาต่อบิดาของหม่อมฉัน นี่การผิดในพระอริยเจ้า ต้องขอขมาตรงต่อพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า ขอขมาต่อบิดาเพราะถือพระพุทธเจ้าเป็นพ่อ
ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกรรมฐาน จงอย่านำความเลวเข้ามาไว้ในจิต ขอได้โปรดทราบว่าสำนักของเราตั้งมานานพอสมควร องค์เก่าอยู่นานพอสมควร ถ้ายังมีอารมณ์เลวอยู่ เราก็จะคัดออกไป จะไม่เห็นหน้ากับบุคคลผู้ใด ทำความดีเพียงใด นั่นเป็นเรื่องของความดี แต่ความชั่วต้องเป็นเรื่องของความชั่ว อย่าเอาความดีเข้ามากู้ความชั่ว อันนี้อภัยให้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลาย ถ้าปรารถนาจะทรงความเป็นพระโสดาบันไว้ แต่ความจริงพระโสดาบันนี่ใครปฏิบัติเต็ม 3 เดือน ไม่ได้พระโสดาบันนี่รู้สึกว่าจะเลวเกินไป เพราะมันเป็นของไม่ยาก จะเลวเกินกว่าที่คิดว่ามีความดีอยู่บ้าง เพราะว่าอะไร เพราะว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ นึกถึงความดีของท่านเป็นปกติ อันนี้มันน่าจะมีกับพวกเราอยู่แล้วเป็นธรรมดา และการมีศีลบริสุทธิ์มันก็ควรจะมีอยู่แล้ว นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ มันก็ควรจะมีได้เป็นของไม่ยาก นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ มันก็ควรจะมีอยู่แล้ว และการตัดกิเลสก็ไม่มีความสำคัญตรงไหน ยังมีความรักในเพศ ยังมีความอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลงแต่ไม่ละเมิดศีล รักแต่ไม่รักนอกขอบเขตของศีล อยากรวยก็รวยด้วยความบริสุทธิ์ คือ ไม่คดโกงใคร ทำมาหากินตามปกติ โกรธแต่เราไม่ประหัตประหารบุคคลอื่น หลง ยังรักสวยรักงาม แต่ไม่ลืมความตาย นี่เป็นของง่าย ๆ หญ้าปากคอก เป็นของที่ไม่เกินวิสัย พอจะทำได้ หวังว่าต่อไปนี้ท่านทั้งหลายคงจะไม่มีใครเลว มีแต่ความดีและก็ทรงความดีทั้งหลายอย่างนี้ไว้ ถ้าเป็นพระทรงความดีแค่นี้ผมถือว่าเลวเกินไปในฐานะที่ครองผ้ากาสาวพัสตร์ สำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัทที่เป็นฆราวาสก็ขอยกย่องว่า ถ้าทรงไว้ได้จัดว่าเป็นความดี
และต่อจากนี้ไปขอท่านทั้งหลายโปรดตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกหมดเวลา

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

สังโยชน์ของพระโสดาบัน

สังโยชน์ของพระโสดาบัน

จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน


สำหรับโอกาสนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานพระรัตนตรัยแล้ว ต่อนี้ไปตั้งใจสดับคำแนะนำในการปฏิบัติพระกรรมฐาน
สำหรับคำแนะนำวันนี้จะขอตัดตอนต้นไป เพราะเป็นการซ้ำกันบ่อย ๆ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้น เป็นการเดินทางเข้าสู่สายพระนิพพานโดยตรง การปฏิบัติตนให้สู่พระนิพพานนี่อาจจะต้องพูดกันหลายวันหน่อย เพราะว่าเพื่อความเข้าใจของนักปฏิบัติ วันนี้จะยกเรื่องสมาธิทิ้งไป และก็จะไม่ปรารภจริตใด ๆ ทั้งหมด เพราะการเดินทางสายเข้าสู่พระนิพพานต้องเป็นคนมีอารมณ์จิตเข้มแข็ง จะไม่ยอมก้มศีรษะให้แก่กรรมทุกอย่าง มิฉะนั้นแล้วท่านทั้งหลายก็จะเป็นเหยื่อของนรก เรื่องที่พูดกันถึงพระนิพพานก็ไม่ต้องพูดกัน เราจงรู้ตัวของเรา
ทีนี้ตามพระบาลีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถึงความเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคา อรหันต์ ตรัสเป็นเขตไว้ ขอบรรดาท่านทั้งหลายจำไว้แล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ เพราะเป็นจุดหมายปลายทางและเป็นหนทางที่ตรงอย่างยิ่ง จะได้ไม่เอนไม่เอียง ไม่มีความสงสัย การที่อวดตัวว่ารู้มากตำราไม่มีความหมาย ความสำคัญมีอยู่อย่างเดียว คือ ทำจิตให้หมดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานนี้เป็นความต้องการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็เป็นความต้องการของผมด้วย ขอได้โปรดจำกันไว้ให้ดีว่า ผมต้องการคนที่มีความปรารถนาในการตัดกิเลสและก็พยายามตัดกิเลส ไม่ใช่เพาะกิเลส
มีเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงกฎแห่งการที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงการเป็นพระอริยเจ้าที่เคยปรากฏอยู่เสมอว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่บวชเข้ามาแล้วต้องมีสิกขา 3 ประการ คือ
1. อธิศีลสิกขา ปฏิบัติศีลอย่างยิ่ง คำว่า อย่างยิ่ง ก็หมายความว่า เคร่งครัด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด มีศีลจับใจเป็นอารมณ์ สิ่งใดที่ขัดต่อศีลเราไม่ทำ และสิ่งใดที่ขัดต่อความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส เราไม่ทำ
2. อธิจิตสิกขา พยายามเร่งรัดอารมณ์สมาธิให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์สูงสุดจริง ๆ คือ ฌาน 4
3. อธิปัญญาสิกขา มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง มีปัญญาสามารถจะรู้กำหนดการตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเบื้องสูง
สิกขา 3 ประการนี่ที่ว่าเราจะต้องปฏิบัติกัน เพราะว่า ภิกขุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในสงสาร สมณะ แปลว่า สงบ หรือผู้มีบาปอันลอยแล้ว นึกดูน้ำใจของเรา ว่า น้ำใจของเราน่ะมันเลวหรือว่ามันดี อัตตนา โจทยัตตานัง พระพุทธเจ้ากล่าวว่า จงเตือนตนไว้เสมอ ไม่ใช่ไปนั่งเตือนคนอื่น คือ ไปนั่งค่อนขอด ค่อนแคะประณามบุคคลอื่น ถ้าเราไปนั่งค่อนขอด ค่อนแคะประณามบุคคลอื่น นั่นแสดงว่าเราเลวเกินไปที่จะเป็นมนุษย์ได้ เป็นวิสัยของสัตว์ในอบายภูมิ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เตือนตนไว้เสมอ
สำหรับอธิศีลสิกขา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นวิสัยของพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี จำให้ดีนะ
อธิจิตสิกขา เป็นวิสัยของพระอนาคามี
อธิปัญญาสิกขา เป็นวิสัยของพระอรหัตผล
เป็นอันว่าถ้าเราพิจารณาตามพระพุทธฎีกาข้อนี้ จะเห็นว่าการปฏิบัติตนตรงต่อความเป็นพระอริยเจ้าเป็นของไม่ยาก ไม่ยากเพราะอะไร เพราะว่าเรารู้อยู่ว่าสำหรับพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีไม่มีอะไรมาก คือ เป็นผู้ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดนั่นเอง
ทีนี้เราก็หันไปดูองค์ของพระโสดาบัน หรือว่าไปดูสังโยชน์ของพระโสดาบัน เอาสังโยชน์ก่อน สังโยชน์ที่เราจะละเข้าถึงพระโสดาบัน นั่นก็คือ
1. สักกายทิฏฐิ พิจารณาว่า อัตตภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา สำหรับสักกายทิฏฐิข้อนี้เราตัดกันแต่เพียงเบา ๆ เท่านั้น คำว่าตัดเพียงเบา ๆ ก็หมายความว่ามีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย เราไม่ประมาทในชีวิต คิดไว้เสมอว่าความตายอาจจะมีแก่เราได้ทุกขณะ ไม่ใช่ว่าวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ คิดถึงความตายไว้เป็นปกติว่า เราอาจจะต้องตายเดี๋ยวนี้ เมื่อเราคิดว่าเราจะตายเดี๋ยวนี้ เราก็ต้องรวบรวมกำลังใจสร้างความดี เพื่อว่าเมื่อตายแล้วจะได้ไม่ไปตกอยู่ในอบายภูมิ นี่สำหรับสักกายทิฏฐิข้อต้น
พระโสดาบันถ้าจะว่าตัดก็ยังไม่ถึง เรียกว่า ขัดสีฉวีวรรณสักกายทิฏฐิให้มันผ่องใสขึ้นเท่านั้น เพราะว่าอารมณ์เดิมของเรามันเต็มไปด้วยความโง่ เห็นชาวบ้านเขาตาย รู้ แต่ว่าไม่เคยคิดเลยว่าตัวจะตาย หาความรู้สึกว่าตัวจะตายไม่ได้ มีความประมาทสร้างความชั่วเป็นปกติ นี่อารมณ์เดิมของเรามันเลวแบบนี้ ทีนี้พอมาถึงมีจิตหวังตั้งใจจะปฏิบัติให้เป็นพระอริยเจ้า ก็ต้องนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ถ้าไม่นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ความประมาทมันก็มีอยู่ เมื่อความประมาทมีอยู่ ตายแล้วก็ต้องไปตกอบายภูมิแน่
เมื่อเรานึกถึงความตายแล้ว เราก็คิดว่าถ้าเราตายแล้วคราวนี้เราจะไปไหน ถ้าเราคิดว่าเราจะเกิดเป็นคนใหม่มันก็เลวเต็มที ถ้าเป็นพ่อค้าก็ถือว่าขาดทุน ทั้งนี้เพราะอะไร เราลงทุน 100 บาท ค้าขายอยู่ 9 ปี 10 ปี ก็มีทุนอยู่แค่ 100 บาท ถ้าอย่างนั้นเราไม่ทำเลยดีกว่า เป็นอันว่าเราก็ตั้งใจว่าอย่างเลวที่สุด เราจะเป็นผู้เข้าถึงกระแสของพระนิพพาน คือ เป็นพระโสดาบันเป็นอันดับน้อยที่สุด เลวที่สุด อย่าลืมนะ เราต้องถือว่าการทำจิตให้เข้าถึงพระโสดาบันนี่เป็นความเลวที่สุด คือ ได้ดีน้อยที่สุดที่เราต้องการจะพึงถึง
แต่ทว่าการเข้าถึงพระโสดาบันนี่ถือว่าเข้าถึงกระแสพระนิพพานเป็นระยะการที่เราจะก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานโดยไม่ถอยหลัง คือ ไม่กลับถอยหลังกลับมา เพราะ พระนิพพานเบื้องต้นเราจะเกิดระหว่างเทวดากับมนุษย์ หรือ ระหว่างเทวดากับพรหม มาเกิดอย่างละ 7 ชาติ พอเป็นมนุษย์ชาติที่ 7 เราก็เป็นอรหันต์ ถ้าเป็น โกลังโกละ มีความเคร่งเครียด คือ ว่ารวบรัดอารมณ์จิต ดึงอารมณ์จิตไว้มั่นคงกว่า สัตตักขัตตุง อันนี้เราก็มีจังหวะเกิดมาเป็นมนุษย์กับเทวดาสลับกันอีก 3 ชาติ เราก็เป็นอรหันต์ ถ้ามีอารมณ์เคร่งครัด เรียกว่ามีอารมณ์จิตมั่นคงอย่างยิ่งในองค์พระโสดาบัน เราตายจากคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม พ้นจากนั้นมาเป็นมนุษย์อีกหนึ่งชาติ เราก็เป็นพระอรหันต์ นี่เป็นอันว่าอาการของพระโสดาบันมี 3 อย่าง มี 3 ระดับ
ทีนี้ คนที่เป็นพระโสดาบันจริง ๆ เราเอาอะไรเป็นเครื่องกำหนด
อันดับแรก เราก็ต้องรู้องค์ของพระโสดาบัน ทีนี้พูดถึงสังโยชน์ยังไม่จบ อันดับแรกเรานึกถึงสังโยชน์ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ อารมณ์ที่เกาะขันธ์ 5 คือ เกาะกาย คราวนี้เราไม่เกาะละ ปล่อยน้อย ๆ คิดว่าร่างกายนี้จะต้องตายแน่ เราควบคุมมันไม่ได้แน่นอน แม้แต่องค์สมเด็จพระชินวรเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังไม่สามารถจะควบคุมร่างกายไม่ให้ตายได้ มันตายแน่ เราไม่ยอมเกาะมันเกินไป แต่มันยังเกาะอยู่นะพระโสดาบันเกาะกายเหมือนกันแต่ไม่หลงคิดว่ามันจะไม่ตาย คิดว่ามันจะตายไว้เสมอ
ทีนี้สังโยชน์ที่สอง ท่านบอกว่า วิจิกิจฉา เราใช้ปัญญาพิจารณาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะในเรื่องของ ศีล ว่าเราพอจะเชื่อได้ไหมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
สีเลนะ สุคติง ยันติ ศีลเป็นปัจจัยให้มีความสุข
สีเลนะ โภคะสัมปะทา ศีลเป็นปัจจัยให้ทรัพย์สินเยือกเย็น
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ศีลเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพาน
ใช้ปัญญาพิจารณาศีล 5 ประการ ว่าเราต้องการให้บุคคลทั้งหลายมีศีลเพื่อเรา แล้วเราล่ะ เป็นผู้มีศีลเพื่อบุคคลอื่นไหม คำว่าเราต้องการให้คนอื่นมีศีลเพื่อเรา ก็ หมายความว่า เราไม่ต้องการให้ใครมาฆ่าเรา มาทำร้ายเรา มาลักทรัพย์สินของเรา แย่งคนรักของเรา มาโกหกมดเท็จ พูดเสียดสี พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ และเป็นคนไร้สติสัมปชัญญะ อันนี้เราไม่ต้องการ
ในเมื่อเราไม่ต้องการเราก็ใช้ปัญญาสิ อย่าทำเป็นควาย ๆ คิดว่าเราไม่ต้องการอย่างนี้ แล้วคนอื่นเขาต้องการอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสำคัญที่สุด ถ้าพูดคำหยาบ โกหกมดเท็จ เสียดสี ทำลายกำลังใจของบุคคลอื่น พูดเพ้อเจอเหลวไหล เป็นอาการเสียดแทงใจของบุคคลอื่น ทำลายความดีของบุคคลอื่นที่มีอารมณ์จิตยังไม่มั่นคงนัก อาการอย่างนี้เกิดขึ้น ใครเลว เราผู้พูดนั่นละเลวที่สุด เพราะอะไรจึงเลว เพราะไม่ควบคุมวาจาไว้ให้ดี
ทีนี้ทางกายล่ะ ถ้าหากว่าวาจามันไม่ดี กายไม่ดี ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตลักขโมยของเขา ยื้อแย่งความรัก ถ้าเราเลวอย่างนี้ คนอื่นเขาไม่ต้องการ เราไปทำเข้า ก็จัดว่าเราเลวเกินกว่าที่เขาจะคิดว่าเราเป็นคน นี่มันเลวเกินไป
สำหรับการไร้สติสัมปชัญญะเป็นของดีไหมการดื่มสุราเมรัยเป็นปัจจัยให้ไร้สติสัมปชัญญะ มันก็ไม่ดี คนไม่มีสติสัมปชัญญะนี่สัตว์เลี้ยงมีค่ามากกว่า เพราะยังไง ๆ มันก็เป็นสัตว์
รวมความว่า คนที่มีกายชั่ว มีวาจาชั่ว มีสติชั่ว อย่างนี้มีค่าไม่เท่าสัตว์เลี้ยง เพราะอะไร เพราะสัตว์เลี้ยงมันเป็นสัตว์ มันอยู่ในอบายภูมิ มันไม่มีอารมณ์พิเศษ มันยังต้องโทษอยู่ แต่เราเป็นคนรู้ดีรู้ชั่ว รู้ตัวว่าถ้าใครทำความดีความชอบ ใครพูดดีเราชอบ แต่ว่าเรากลับทำชั่วเพื่อเขา เราพูดชั่วเพื่อเขา อย่างนี้มีค่าไม่เท่าสัตว์เลี้ยง หรือจะกล่าวไปอีกทีก็มีค่าตัวไม่เท่ากับสัตว์ทั่วไปในโลกเลวกว่าสัตว์ เพราะอะไร เพราะว่าสัตว์ตายแล้วเกิดเป็นสัตว์ใหม่หรือมิฉะนั้นก็เกิดเป็นคน มิฉะนั้นก็เกิดเป็นเทวดา แต่คนที่มีกายชั่ว วาจาชั่ว มีอคติชั่ว ตายแล้วลงนรก ถ้าชั่วมากลงอเวจีมหานรก
นี่เราลองเทียบกันว่าคนประเภทนั้นกับสัตว์เดรัจฉานน่ะใครจะดีกว่ากัน เป็นอันว่าคนประเภทนั้นมีความดีไม่เท่าสัตว์เดรัจฉาน ใครต้องการบ้าง ถ้าต้องการก็อยู่ที่นี่ไม่ได้ เพราะที่นี่ไม่ต้องการคนที่เกิดเป็นคนแล้ว แต่ว่าทำตนเพื่อความเป็นสัตว์และเลวยิ่งกว่าสัตว์ เป็นอันว่า เราต้องประณามตัวแบบนี้ อัตตนา โจทยัตตานัง พระพุทธเจ้าทรงเตือน  
และสำนักนี้พูดเสมอว่าจงเตือนตนรู้ตนอยู่เสมอ ระเบียบมี วินัยมี สำนักนี้ถ้าเลวแล้วละก็ไม่ควรจะไปอยู่ที่ไหนเลย ถ้าฟังภาษาคนไม่รู้เรื่องละก็จงอย่าไปอยู่ที่ไหนเลย ถ้าที่ดีไม่มีใครเขาคบ เขาฟังธรรมะกันวันละ 4 เวลา แต่ว่าถ้ายังเลวอยู่ แสดงว่าสัตว์เดรัจฉานดีกว่าเราเยอะ นี่เราต้องประณามตัวแบบนี้ เราอย่าไปนั่งมองคนอื่นเขา มองตัวเรา นี่เตือนกันทุกเย็น ใครมีความรู้สึกตัวบ้างไหมว่าเราเลว ถ้าเลวแล้วไม่เห็นว่าเลว ก็แสดงว่าเรารวมอยู่กับ พระเทวทัต ได้แน่นอน นี่เราต้องประนามตัวเราแบบนี้
คนดีน่ะเขาไม่ยกย่องตัวเอง คนดีเขาจะประณามตัวเอง เพราะว่า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงพยายามประณามตนไว้เสมอ โจทก็กล่าวโทษ มองหาความผิดของตัวไว้เป็นปกติ อย่าไปหาความดี ในเมื่อมันหาความผิดไม่ได้ละมันก็ดีเอง ถ้าไม่มีชั่วละมันดี
สังโยชน์ที่เราจะพึงตัด
1. ไม่อาลัยในชีวิตมากเกินไป รู้ว่าเราจะต้องตาย
2. ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า
3. รักษาศีลบริสุทธิ์
นี่เราจะเห็นว่าพระโสดาบันนี่มีเท่านี้
อันนี้เราก็หันไปอีกทีถึงองค์ เมื่อกี้เป็นสังโยชน์ บุคคลผู้เป็นพระโสดาบันมีอารมณ์อย่างนี้
1. เคารพในพระพุทธเจ้า
2. เคารพในพระธรรม
3. เคารพในพระสงฆ์ แล้วก็
4. มีศีลห้าบริสุทธิ์สำหรับฆราวาส สำหรับพระมีศีล 227 บริสุทธิ์ สำหรับเณรมีศีล 10 บริสุทธิ์ ถึงพระสกิทาคามีก็เหมือนกันมีเท่านี้
ตอนนี้สมมุติว่าคนที่เขาไม่เคยเจริญพระกรรมฐาน แต่ชอบสวดมนต์เป็นปกติ มีศีล 5 บริสุทธิ์ จะถามว่าคนประเภทนี้เป็นพระโสดาบันได้ไหม ก็ต้องตอบว่าได้ คนที่เขานั่งสวดมนต์เป็นปกติ เขาสวดด้วยความเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรมในพระอริยสงฆ์ เพราะบทสวดมนต์ทุกบทมีค่าเท่ากัน คือ สรรเสริญความดีของพระพุทธเจ้า สรรเสริญความดีของพระธรรม สรรเสริญความดีของพระอริยสงฆ์ แล้วเขาก็มีศีลบริสุทธิ์ แต่ตอนนี้ต้องระวังนิดหนึ่ง ถ้าเรามีจิตเบาเพียงเท่านี้อาจจะยังไม่ได้พระโสดาบัน อาจจะเรียกว่า กัลยาณชน
ทีนี้ ถ้าบุคคลผู้นั้นเขามีกำลังใจเพิ่มไปอีกนิดหนึ่งว่า ที่เรายอมเคารพในพระพุทธเจ้า ยอมเคารพในพระธรรม ยอมเคารพในพระสงฆ์ มีศีล 5 บริสุทธิ์อย่างนี้ เรามีความประสงค์อย่างเดียว คือ พระนิพพาน ถ้าอารมณ์ใจเขาหยั่งถึงพระนิพพานอย่างนี้เป็นพระโสดาบันแน่ นี่อารมณ์พระโสดาบันมีเท่านี้ พระสกิทาคามีก็เหมือนกัน 
แล้วก็อย่าลืมอีกนิดหนึ่งว่า ทำไมพระโสดาบันยังรักเขาอยู่ล่ะ ยังอยากแต่งงาน ยังอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง นี่ก็ต้องย้ำลงไปอีกนิดว่า ดูองค์ของพระโสดาบันว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อธิศีลสิกขา คือ มีศีลยิ่งเท่านั้นเอง พระโสดาบันกับสกิทาคามีความสำคัญอยู่ที่ศีล เขาอยากรวยเขาก็ไม่โกงใคร เขารักเขาก็อยู่ในขอบเขตของศีล เขาโกรธเขาไม่ฆ่าใคร เขาหลงรัก หลงสวย หลงงาม เขาก็ไม่ลืมความตาย นี่จะไว้ว่านี่เป็นองค์พระโสดาบัน แล้วการปฏิบัติเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์เบื้องต้น องค์สมเด็จพระทศพลกล่าวว่าเต็มไปด้วย อธิศีลสิกขา
สำหรับในการพูดในวันนี้ก็ขอยุติไว้เพราะหมดเวลา
ต่อจากนี้ไปขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

นิพพะ ดับ

"..นิพพะ ดับ ดับความชั่วทุกอย่างคือ โลภ โกรธ หลง จิตมีความสุข 


นิพพาน เป็นทิพย์พิเศษ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก มีสุขมาก.."



พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน 


(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

การทรงอารมณ์เพื่อเข้าถึงพระโสดาบัน


การทรงอารมณ์เพื่อเข้าถึงพระโสดาบัน




สำหรับโอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทได้สมาทานพระรัตนตรัยแล้ว ต่อไปนี้ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจสงบอารมณ์ให้เป็นสมาธิคือ ในอันดับแรก ขณะที่รับฟังเสียง ตั้งใจฟังเสียงให้รู้เรื่องทุกถ้อยคำ
การตั้งใจฟังเสียงทุกถ้อยคำแสดงว่าจิตทรงสมาธิ เพราะว่า สมาธิแปลว่าตั้งใจไว้ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เวลาที่เราตั้งใจฟังเสียง ถ้าหูได้ยินเสียง จิตรู้เรื่องตาม ก็ชื่อว่าอารมณ์เป็นสมาธิ ถ้าหากว่าท่านใช้ปัญญาพิจารณาไปตามกระแสเสียงด้วยหรือตามถ้อยคำ และเนื้อความที่กล่าว ก็ชื่อว่าเป็นการใช้ปัญญาในด้านวิปัสสนาญาณ นี่มีความสำคัญ
หลังจากพูดจบแล้วขอบรรดาท่านพุทธบริษัทพยายามทรงอารมณ์ให้เป็นสมาธิ โดยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจยาวหรือสั้น หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายในออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ อย่างนี้ จัดว่ามีอารมณ์เป็นสมาธิ ถ้าจะใช้คำภาวนาก็ให้ใช้ว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึก พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อย่างนี้เป็นอารมณ์สมาธิ ขณะใดการรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก รู้คำภาวนา นั่นเป็นสมาธิ
สมาธิจัดไว้หลายระดับคือ ขณิกสมาธิ เรียกว่า สมาธิเล็กน้อย อุปจารสมาธิ สมาธิใกล้เข้าถึงปฐมฌาน แล้วขึ้นไปเป็น ฌาน คือ ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 ฌานที่ 3 และฌานที่ 4 และอารมณ์ที่เป็นสมาธิจะอยู่ในระดับใดก็ตามก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ของความดี เพราะจิตเราตั้งอยู่ในกุศล
อีกประการหนึ่ง ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนพยายามทรงอารมณ์จิตให้อยู่ใน พรหมวิหาร 4 เป็นปกติ คือว่าเราจะมีความรักในคนอื่นและสัตว์อื่นนอกจากตัวเรา เสมอด้วยตัวเรา เราจะมีความสงสารเกื้อกูลเขาให้เป็นสุขตามกำลังที่เราพึงจะทำได้ เราไม่มีอารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นใครได้ดีพลอยยินดีตาม ถ้าสิ่งใดเป็นเหตุเกินวิสัยด้วยอำนาจกฎของกรรมหรือกฎของธรรมดาเกิดขึ้น เราจะไม่มีความหวั่นไหวในจิต นี่อารมณ์อย่างนี้ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททรงไว้ได้ ก็จัดว่าเป็นศูนย์กำลังใจที่มีความสำคัญที่สุดอันจะพึงก้าวเข้าไปสู่ความดี
ถ้าหากว่าบรรดาจิตใจของบรรดาท่าพุทธบริษัทมีคติตรงกันข้าม คิดเห็นว่าคนอื่นเป็นศัตรูสำหรับเรา มีอารมณ์ปรารถนาในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ด้วยการเสียดสีด้วยวาจาบ้าง แสดงอาการทางกายบ้างอย่างนี้เป็นต้น และมีอารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่นเมื่อเห็นเขาได้ดี อดทนอยู่ไม่ไหว เห็นคนอื่นได้ดี หาทางกลั่นแกล้ง กล่าววาจาเสียดสีกระทบกระแทกให้เกิดความช้ำใจ อาการตรงกันข้ามกับพรหมวิหาร 4 แบบนี้เป็นปัจจัยให้ท่านทั้งหลายลงอเวจีมหานรกเป็นอารมณ์ชั่ว ถ้าอารมณ์ชั่วที่มันจับอยู่ในใจตลอดเวลามันก็เป็นอาจิณกรรม กรรมนั้นบันดาลให้เราลงอเวจีมหานรก
ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจงเว้นเสีย ถ้าจิตเราทรงพรหมวิหาร 4 ได้ตลอดกาลก็ชื่อว่าเราสามารถ คุมศีล ของเราให้ปกติอยู่ได้ตลอด สามารถ คุมสมาธิ ให้ทรงตัว คือ จิตน้อมอยู่ในเกณฑ์ของกุศลตลอดเวลา และ คุมวิปัสสนา และเมื่อจิตเราเยือกเย็นมีแต่ความรัก ความสงสาร ปรารถนาในการเกื้อกูล มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร มีการวางเฉยไม่หวั่นไหวในเมื่อกฎของกรรมเกิดขึ้น อารมณ์จิตของเราก็มีความเย็น อารมณ์จิตมีความสุข เมื่อจิตมีความเยือกเย็น จิตมีความสุข อารมณ์สบายก็เกิดขึ้น เมื่ออารมณ์สบายเกิดขึ้นศีลมันก็ไม่ขาด สมาธิก็ทรงตัว ปัญญาก็แจ่มใส สามารถพิจารณาได้ตามเหตุตามผลที่สมควร คนที่ทรงอารมณ์อย่างนี้ได้เป็นปกติ บุคคลประเภทนั้นจะเป็นผู้ทรงฌาน ก็ไม่ยาก เพราะ จิตมีความดีอยู่ในด้านกุศลทรงอยู่ มันเป็นฌานอยู่แล้ว จะบังคับจิตให้ทรงฌานขนาดไหนก็ได้ ตามอัธยาศัย แล้วก็ใช้เวลาไม่นานยิ่งไปกว่านั้นถ้าเรามีความปรารถนาจะเป็นพระอริยเจ้าก็เป็นไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระโสดาบัน เป็นอันดับต้น
นี่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมาตั้งใจทำความดี ก็จงอย่าคิดว่าเราจะสร้างความดีกันแค่ความดีสามัญ หรือที่เรียกกันว่าทำเป็นแค่อุปนิสัย อันนี้ไม่สมควร มันจะเป็นการขาดทุนเกินไปในการที่บำเพ็ญความดี อารมณ์ของเราก็ควรจะคิดว่า อย่างเลวที่สุดเราจะต้องตั้งอยู่ใน พระโสดาบัน เป็นอย่างต่ำ เพราะว่าพระโสดาบันแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
1. เอกพีชี มีอารมณ์เคร่งเครียด เป็นพระโสดาบันละเอียด
2. โกลังโกละ เป็นพระโสดาบันอย่างกลาง
3. สัตตักขัตตุง เป็นพระโสดาบันอย่างหยาบ
อย่างเลวที่สุด เราควรจะคิดว่าภายใน 3 เดือน ใน 6 เดือน หรือว่า 1 ปี เราจะทรงอารมณ์ความเป็นพระโสดาบันไว้ให้ได้ นี่ควรจะตั้งใจอย่างนี้ เพราะการเจริญพระกรรมฐานเราทำเพื่อความดี อย่าคบกิเลส อย่าทำใจให้เป็นทาสของกิเลส นี่การปฏิบัติเข้าถึงพระโสดาบันเบื้องต่ำที่เรียกกันว่า สัตตักขัตตุง อันนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า มีสมาธิพอสมควร คือ มีสมาธิเล็กน้อย แล้วก็มีปัญญาพิจารณาวิปัสสนาญาณเล็กน้อย ก็สามารถเป็นพระโสดาบันได้
ความจริงพระโสดาบันไม่ใช่ของสูง เป็นของธรรมดาที่เรียกกันว่า ชาวบ้านชั้นดี ถ้าพระอริยะเบื้องสูงซึ่งกล่าวว่าพระโสดาบัน คือ ธรรมะที่จะทำให้คนเป็นพระโสดาบันเหมือนกับของเด็กเล่น คือ เป็นของทำง่าย ๆ มีพรหมวิหาร 4 ประจำใจ เราก็เป็นพระโสดาบันได้แบบสบาย ถ้าเรามีความฉลาด แต่ถ้าหากว่าเราโง่ ปล่อยให้จิตเป็นทาสของกิเลส ยังมีอารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่น อยากจะพิฆาตเข่นฆ่าทำลายบุคคลอื่น ให้มีความทุกข์ ขาดความเมตตาปรานี มีอารมณ์อิจฉามีอารมณ์หวั่นไหวในกฎของกรรมอันเป็นสิ่งธรรมดา อันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างนี้จะป่วยการกล่าวไปใยถึงพระโสดาบัน แม้แต่เราจะเป็นคนก็ยังเป็นไม่ได้เพราะวิสัยเป็นจิตของอบายภูมิ คือ เป็นนิสัยของสัตว์นรก เป็นวิสัยของเปรต เป็นวิสัยของอสุรกาย เป็นวิสัยของสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นอารมณ์ประเภทนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จงเว้นเสีย ทรงพรหมวิหาร 4 ให้เป็นปกติ
นี่เรามาพูดกันถึงการเป็นพระโสดาบัน ต่อนี้ไปเราก็จะใช้วิธีอธิบายให้ละเอียดสักหน่อย เพราะการเป็นพระโสดาบันที่บอกว่าไม่ยาก ในอันดับแรก ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทมีอารมณ์จิตคิดไว้เสมอว่า เราจะไม่สนใจกับจริยาของบุคคลอื่น โดยจะไม่ไปก้าวก่ายกับจริยาของใคร ไม่เข้าไปอิจฉาริษยาบุคคลอื่น ว่าบุคคลนี้กินมากเกินไป นอนมากเกินไป หลงในลาภสักการะเกินไป บำเพ็ญเพียรดีเกินไป อย่างนี้เป็นต้น ถือว่าเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าจิตเราไปยุ่งกับเขาแสดงว่าเรานิยมอบายภูมิ อย่างนี้ไม่ต้องมีใครแช่ง ไปเองแบบสบาย จะบวชพระสักกี่โกฎิปีมันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าจิตมันเลว สภาวะของเพศเป็นพระ แต่จิตเป็นจิตของอบายภูมิ จะสร้างความดีแบบไหน มันก็ดีไม่ได้ คนที่มีจิตเลว นี่เป็นอันว่าเราจะพยายามควบคุมจิตของเราไม่ให้ไปยุ่งกับจริยาของบุคคลอื่น แค่ความจริงเรื่องนี้ เราได้ยินกันอยู่ทุกวัน แต่ความเลวของพวกเราน่ะเปลื้องกันได้หรือเปล่า
ในประการต่อไปเราตั้งใจไว้เสมอว่า จะทรงศีลให้บริสุทธิ์ โดยไม่ทำลายศีลเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นทำลายศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว และเราจะมีจิตยอมรับนับถือความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระสงฆ์ และมีจิตตรงเฉพาะพระนิพพาน คือ การกระทำกิจทุกอย่างไม่ว่าอะไรทั้งหมด จะให้ทานแก่สัตว์ ชี้ทางให้แก่บุคคลผู้หลงทาง แนะนำบุคคลผู้มีความโง่ ถวายทานแก่พระสงฆ์ บูชาพระรัตนตรัย นึกถึงความดีของบิดามารดา ครูบาอาจารย์เป็นต้น เราทำอย่างนี้ทุกอย่างเราไม่หวังผลในการตอบแทนในปัจจุบัน เรามีความต้องการอย่างเดียวคือ สร้างความดีเพื่อสู่พระนิพพาน อารมณ์ที่กล่าวมานี้เป็นอารมณ์ของ โสดาบันสัตตักขัตตุง คำว่า สัตตักขัตตุง ก็หมายความว่า เราเกิดเป็นมนุษย์อีก 7 ชาติ ก็จบกิจเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าหากท่านทั้งหลายจะถามว่า เอาสมาธิจิตมาจากไหน ก็จะต้องตอบว่า ถ้าหากท่านทั้งหลายคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงพระอริยสงฆ์ ว่าท่านทั้งหลายทั้ง 3 ประการนี้มีความดีหาประมาณมิได้ เราขอยอมรับนับถือความดีของพระพุทธเจ้า โดยจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกอย่าง และจะเว้นถ้อยคำห้ามปรามที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ปฏิบัติ แล้วเราก็ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์สาวกว่าท่านมีควาดีตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน แล้วท่านปฏิบัติตาม เป็นความดีที่ท่านทรงความบริสุทธิ์ มีจิตเป็นสุข มีอารมณ์เป็นสุขอย่างนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ฝ่าฝืนข้อห้าม และก็พยายามปฏิบัติความดีที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ ถ้าหากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายคิดอย่างนี้ไว้เป็นปกติ ถึงแม้ว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายคิดอย่างนี้ไว้เป็นปกติ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ท่านจะไม่ภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ชื่อว่าท่านเป็นผู้มีสมาธิใน พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน เพราะจิตเราทรงตรงอยู่ในความดี ยอมรับนับถือความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เป็นองค์สมาธิที่มีความสำคัญ
แค่ที่เรานั่งภาวนาเพื่อให้จิตสงบเฉพาะเวลา แต่พอลืมตาขึ้นมาก็ปล่อยอารมณ์ลอยไปในสถานที่ต่าง ๆ เป็นปัจจัยของความชั่ว คือ ไม่ยอมเคารพในศีล ไม่ยอมเคารพในธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ การหลับตาสักแสนปีหรือโกฎิชาติก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ มันมีอยู่อย่างเดียวคือ อารมณ์ทรงความดี
ทีนี้ในเมื่อยอมรับนับถือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นปกติ เมื่อเรายอมรับนับถือท่านเราก็ต้องทรงศีล 5 ในศีลของตนเองบริสุทธิ์ พระมีศีล 227 บริสุทธิ์ เณร มีศีล 10 บริสุทธิ์ ฆราวาสมีศีล 5 บริสุทธิ์ นี่เราว่ากันขั้นพระโสดาบัน สำหรับศีล 8 นั้นเป็นขั้นของพระอนาคามี ในเมื่อเรามีศีลบริสุทธิ์ ศีลน่ะมันบริสุทธิ์ยากถ้าอารมณ์ใจเราต่ำ ถ้ามีอารมณ์เลว ศีลจะบริสุทธิ์ได้ต้องมีอารมณ์เยือกเย็น คือ มีอารมณ์เป็นน้ำ ไม่ใช่มีอารมณ์เป็นไฟ ทั้งนี้เพราะว่าต้องมีใจประกอบไปด้วยความรัก เห็นคนและสัตว์เป็นที่รักของเราทั้งหมด จิตต้องประกอบไปด้วยความกรุณา ความสงสาร เห็นคนและสัตว์เราเห็นว่าเป็นคนที่เห็นว่าเราควรจะสงเคราะห์ทั้งหมด ตามกำลังที่เราจะพึงทำได้ อารมณ์จิตเราจะอ่อนโยน ไม่หวั่นไหวไปในความชั่ว พลอยยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดี ไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่น อารมณ์อิจฉาริษยาน่ะ มันเป็นอารมณ์ของสัตว์นรก มันมีแต่ความเร่าร้อน อารมณ์ที่ไม่มีจิตอิจฉาริษยาใครเป็นอารมณ์เยือกเย็น เป็นอารมณ์ของสวรรค์ เป็นอารมณ์ของพรหม เป็นอารมณ์ของนิพพาน แล้วเราก็มีอุเบกขา หมายความว่ารู้ว่าสิ่งใดที่มันเป็นธรรมดา เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้
ทีนี้ถ้าพรหมวิหาร 4 มีแก่บุคคลใด บุคคลนั้นหาความเลวไม่ได้ มีแต่ความดี การที่จะคิดฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ไม่มีในใจ เพราะเรามีความรัก ความสงสาร การจะลักจะขโมยเขามันก็ไม่มี วาจาหยาบคายก็ไม่มี วาจาส่อเสียดยุยงส่งเสริม อารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่นก็ไม่มี แล้วก็วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ก็ไม่มี นี่เป็นอันว่าการทรงพรหมวิหาร 4 ทำตนให้เป็นพระโสดาบันได้ง่าย และก็แถมใจอีกนิดหนึ่งว่าเราต้องการพระนิพพาน ทีนี้การที่เราคิดอยู่ว่าเราจะทรงศีล 5 ให้บริสุทธิ์ คือ ทรงศีลประจำเพศให้บริสุทธิ์ อันนี้เป็น สีลานุสสติกรรมฐาน ถ้าเราทรงอารมณ์ไว้ได้ ชื่อว่าเรามีฌานในสีลานุสสติกรรมฐาน ถ้านึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่เป็นประจำ ก็ชื่อว่าเรามีฌานอยู่ในอนุสติ 3 ทีนี้ถ้าหากว่าเราตั้งใจอยู่ในพรหมวิหาร 4 ประการเป็นปกติ ก็ชื่อว่าเรามีฌานในพรหมวิหาร 4 จิตน้อมไปถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ชื่อว่าเรามีฌานใน อุปสมานุสสติกรรมฐาน
เป็นอันว่าอารมณ์แห่งการถึงพระโสดาบันขั้นต้นมีเพียงเท่านี้ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านจงเข้าใจว่าการเป็นพระโสดาบันเป็นของไม่ยาก คนดีเป็นง่าย คนเลวเป็นยาก เพราะหากว่าคนเลวมีสันดานอบายภูมิติดมา ก็ย่อมไม่เห็นคุณค่าของความเป็นพระโสดาบัน โดยการปฏิบัติความดีเพียงแค่เล็กน้อย
ต่อจากนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา