วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อารมณ์ของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี

อารมณ์ของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี

จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน

การทรงจิตในด้านหิริและโอตตัปปะ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ในตอนก่อนได้พูดถึงจริยาของการปฏิบัติให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่ในตอนนั้นรู้สึกว่าจะเป็นพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุงมากกว่า ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเราใช้การพิจารณา
อันดับแรก พิจารณาถึงความตายเป็นอารมณ์ การนึกถึงความตายนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท ต้องถือว่าเป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องคิดเป็นปกติ ถ้าลงได้คิดถึงความตายแล้วคนมันก็เลวได้ยาก ที่เลว ๆ นั่นน่ะ โดยมากไม่ได้นึกถึงความตาย จึงได้ทำความชั่วกันทุกอย่าง
ขาด หิริ และ โอตตัปปะ
หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ความชั่ว
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่ว จะทำความเร่าร้อนให้เกิด
ที่เลวกันมาได้ก็เพราะอาศัยคุณธรรมทั้งสองประการนี้ไม่มีในจิต คนเราถ้าขาดหิริและโอตตัปปะ ก็เป็นอันว่าไม่ใช่มนุษย์เพราะว่า มนุษย์ แปลว่า มีใจสูง ยิ่งเป็นพระภิกษุสามเณรด้วยแล้วก็เลวมากเต็มที
ฉะนั้นคำสอนแต่ละคราว ทั้งตอนเย็น ตอนเช้า ตอนกลางคืน ตอนดึกก็ตาม มันจะเตือนกันอยู่เสมอว่า ให้นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จะได้ประกอบความดี องค์สมเด็จพระชินสีห์เองก็ได้ทรงตรัสแก้พระอานนท์ว่า
"อานันทะ ดูด่อนอานนท์ เราเองนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก"
นี่คนดีอย่างพระพุทธเจ้าเป็นจอมอัจฉริยะ หรือว่าเป็นจอมของสมณะทั้งหมด พระองค์ก็ยังกำหนดจิตจับความตายเป็นอารมณ์ ไม่มีความประมาทในชีวิต เพราะอะไร
ก็เพราะว่า คนถ้านึกถึงความตาย ก็ต้องมีความรู้สึกว่า ถ้าเราจะอยู่ ก็อยู่อย่างคนดี ถ้าตายเป็นผีเราก็จะเป็นผีดี ถ้าไม่นึกถึงความตาย มันก็ขาดหิริโอตตัปปะ ถ้าอยู่อย่างคนก็เป็นคนเลว ถ้าตายเป็นผีมันก็เป็นผีเลว คือ เป็นผีในนรก เป็นผีประเภทเปรต เป็นผีประเภทอสุรกาย เป็นผีประเภทสัตว์เดรัจฉาน นี่ผลร้ายสำหรับคนที่ไม่นึกถึงความตายและขาดหิริโอตตัปปะ ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายเมื่อสร้างความดี ก็ทรงจิตไว้ในด้านหิริและโอตตัปปะ ควบกับความรู้สึกตัวว่าเราจะต้องตาย
ความจริง ความตายนี่มี 2 อย่าง ตายประเภทสิ้นลมปราณ นั่นอย่างหนึ่ง ตายประเภทที่มีลมปราณ นั่นอย่างหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น พระนางสามาวดีกับหญิง 500 ถูกนางมาคันธิยาอิจฉาริษยา ในที่สุดถึงกับจ้างให้น้าชาย หรืออา เข้าไปเผาปราสาทนางกับหญิง 500 ให้ตายพร้อมกัน แต่หญิงทั้ง 500 นั้นมีความไม่ประมาทในชีวิต เพราะอารมณ์จิตเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว จึงได้แนะนำกันว่าพวกเราทั้งหลายจงอย่าโกรธในพระนางมาคันธิยา จงอย่าโกรธในมาคันธิยาพราหมณ์ผู้เผาปราสาท จงมีจิตคิดให้อภัยแก่คนทั้งสอง เร่งรัดรวบรวมกำลังใจสร้างความดีให้สูงยิ่งขึ้นไป ในขณะที่ไฟใกล้เข้ามาจวนจะเผาเข้ามาถึงกาย ก็ปรากฏว่าบางคนได้เป็นพระสกิทาคามี บางคนบรรลุอนาคามี
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะรู้ว่าความตายจะเข้ามาถึงในเดี๋ยวนี้ ท่านทั้งหมดทั้ง 500 คนไม่มีความประมาทในชีวิต รวบรวมกำลังจิตปลงขันธ์ 5 ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในที่สุดมันจะต้องตายแล้ว ตายดีตายชั่วมันก็ตาย
การตายแบบนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ เพราะพระสงฆ์ไปรายงานให้ฟังว่า หญิง 500 มีพระนางสามาวดีเป็นประธานต้องถูกไฟเผาตาย องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงตรัสว่า
ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิง 500 ที่ถึงว่าจะตายแล้วก็เหมือนกับคนที่ไม่ตาย"
เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อมีชีวิตอยู่เขาก็สร้างแต่ความดี เมื่อตายไปแล้วก็ไปเป็นผีดี คือ เป็นพระอริยะเจ้าเบื้องสูง เป็นพระสกิทาคามีบ้าง เป็นพระอนาคามีบ้าง
เป็นอันว่าท่านที่เป็นสกิทาคามีเรื่องอบายภูมิไม่ต้องพูดกัน ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวก็ไปนิพพาน ท่านที่เป็นอนาคามีตายไปเป็นเทวดาแล้วนิพพานบนนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์กล่าวว่าเขาผู้นั้นยังไม่ตาย คือ ไม่ตายจากความดี มีความดีก้าวขึ้นสูงกว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ปกติ
สำหรับพระนางมาคันธิยา ก็ถูกพระเจ้าอุเทนบรมกษัตริย์สั่งประหารชีวิตพร้อมด้วยพวกและญาติ ในฐานะที่เป็นจอมอิจฉาริษยาคนอื่น คือ อิจฉาริษยาพระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิง 500 ที่เป็นบริวาร จนกระทั่งถึงความตาย ในที่สุดพระเจ้าอุเทนบรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอก็สั่งให้จับพระนางมาคันธิยากับบรรดาญาติทั้งหลาย โดยเฉพาะญาติทั้งหลายเหล่านั้นให้หลุมฝังลงไปครึ่งตัวแล้วให้เอาฟางสุมให้เลยหัว สั่งเอาไฟจุดแล้วก็ใช้ช้างเทียมไถเหล็กเดินไถพวกนั้นขาดกลางตัว
สำหรับนางมาคันธิยา จอมอิจฉาริษยาเป็นหัวหน้าคนในด้านทำลายความดีของบุคคลอื่น พระเจ้าอุเทนบรมกษัตริย์พระบาทท้าวเธอให้จับผูกมือสองมือ แขวนเท้าหวิด ๆ กับพื้นให้เอาผ้าม้วน ๆ ยัดใส่ปาก แล้วเชือดเนื้อทีละชิ้น เอามาทอดน้ำมัน ทอดสุกก็บังคับให้นางมาคันธิยากินจนกว่าจะตาย
การตายแบบนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์กล่าวว่า นางมาคันธิยาในสมัยที่ยังไม่ตายก็เหมือนกับบุคคลที่ตายแล้ว คือ มีแต่ความชั่วไม่มีความดี ตายจากความเป็นสุข มีแต่ความเร่าร้อน
นี่การที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นพระโสดาบัน เราก็ต้องนึกถึงความตายเป็นปกติ ถ้าพวกเราเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ก็รู้สึกว่าเป็นที่น่าเสียดาย อยู่ในสถานที่เช่นนี้ รับฟังธรรมะกันทุกวัน วันละหลายเวลา ยังจะคบกับความชั่ว คือ ขาดหิริและโอตตัปปะ เข้ามาเป็นประจำ ตามที่เคยปฏิบัติกันมาในกาลก่อน ก็รู้สึกว่าจะเลวเกินไปสำหรับการเกิดเป็นคน ไม่สมควรจะเอาภาคของมนุษย์เข้ามาสวมกาย เอาใจเข้ามาสิงในภาคของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรก็จะเลวมากที่สุด เพราะว่าภิกษุสามเณรจะต้องมี อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ฉะนั้น จงพยายามรวบรวมกำลังใจให้ทรงไว้เฉพาะความดี อย่าปล่อยให้ความเลวมันหลั่งไหลเข้ามาสู่ใจอีก เพราะความเลวไม่ให้ผลความสุขแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ มีอย่างเดียวคือ ความทุกข์ ความเร่าร้อน เช่นเดียวกับนางมาคันธิยา จงอย่านึกว่าจะมีใครเขาปรานีในฐานะที่เราเป็นคนเลว มันหาไม่ได้ โลกนี้ทั้งโลกไม่มีใครเขาเมตตาปรานีคนเลว
ทีนี้การลงโทษ เราก็จงอย่าคิดว่าคนอื่นจะต้องมาลงโทษเรา ก่อนที่คนอื่นจะลงโทษ กรรมที่เราทำความชั่วมันก็ทำความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นแก่เรา ใครเขาพูดความชั่วคราวใดเราก็สะดุ้งเพราะเรามันเลว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อัตตนา โจทยัตตานัง" จงเตือนตนไว้เสมอ และจงโจทก์ตน กล่าวโทษตนไว้เป็นปกติ หาความชั่วของตัว อย่าไปหาความชั่วของบุคคลอื่น ถ้าเลวมากเท่าไหร่ เราก็เพ่งเล็งความเลวของบุคคลอื่นมากเท่านั้น ถ้าเราดีมากเท่าไหร่เราก็ไม่มองเห็นความเลวของบุคคลอื่น เพราะยอมรับนับถือกฎของกรรม ที่เรายังไปแส่หาความเลวของบุคคลอื่น เสียดสีเขาบ้าง พูดจากระทบกระเทียบเขาบ้าง ทำลายความสุขใจเขาบ้าง นั่นแสดงว่า เรามันเลวที่สุดของความเลว คือ ความเลว มันไม่ได้ขังอยู่เฉพาะในใจ มันไหลออกมาทางกาย ไหลออกมาทางวาจา เพราะมันล้น นี่ขอทุกท่านจงจำไว้ อย่าไปมองดูความเลวของคนอื่น มองดูความเลวของตน ไม่ต้องไปปรับปรุงบุคคลอื่นเขา ปรับปรุงเราเองให้มันดีที่สุด
ทีนี้ จิตที่มันจะดีมันดีตรงไหน ก็ดีตรงว่านึกถึงความตาย มีหิริและโอตตัปปะ อายความชั่ว เกรงกลัวความชั่ว ความชั่วมันมีอะไรบ้าง เราก็รู้กันอยู่แล้ว เราต้องเป็นผู้มีศีล ถ้าทำลายความสุขของบุคคลอื่นจะชื่อว่าเราเป็นผู้มีศีลได้ยังไง ทำลายความดีของบุคคลอื่น เราจะเป็นผู้มีศีลได้ยังไง
จิตของเรานอกจากจะทำอธิศีลสิกขาแล้ว ก็ต้องเป็นอธิจิตสิกขา อธิจิตสิกขา คือ ทรงจิตให้อยู่ในความดีตลอดเวลา มีพรหมวิหาร 4 เป็นเครื่องประจำใจ ถ้าเราอายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว ก็ต้องใช้พรหมวิหาร 4 เข้ามาประคับประคองอารมณ์ของจิตเมื่อพรหมวิหาร 4 คือ
เมตตา ในคนทั้งหลายและสัตว์ทั้งหมด
กรุณา มีความสงสารปรารถนาเกื้อกูลจะให้มีความสุข
มุทิตา มีจิตใจอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เมื่อเห็นบุคคลอื่นได้ดีก็พลอยยินดีด้วย
อุเบกขา วางเฉยในเมื่อกฎของกรรมหรือกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมันเกิดขึ้น มันสุดวิสัยที่จะพึงระงับได้ เราก็วางเฉยไม่ดิ้นรน คือ ไม่ซ้ำเติมเมื่อบุคคลอื่นได้รับความทุกข์
นี่ถ้าอาการทั้ง 4 อย่างนี้มีอยู่ในใจของเรา ความชั่วมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ที่เราต้องชั่วกันเพราะว่าขาดหิริและโอตตัปปะ ขาดนึกถึงความตาย ขาดพรหมวิหาร 4 ถ้าขาดสิ่งทั้ง 3 ประการนี้ ศีลเรามันก็ไม่มี จะทรงเพศเป็นพระ จะทรงเพศเป็นเณร จะทรงเพศเป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็สักแต่ว่าพึงมีเพียงเพศเท่านั้น อย่างนี้พระพุทธเจ้าถือว่าเถน เถนแปลว่าหัวขโมย คือขโมยเพศของสมณะมาใช้ แต่น้ำใจจริง ๆ นั้นเลวยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เขาถือว่าเป็นสัตว์อยู่แล้วมันจะรบกวนกันเขาก็เป็นสัตว์อยู่ในอบายภูมิ แต่คนเรามีน้ำใจคล้ายสัตว์ไม่ยอมรับนับถือความดีซึ่งกันและกัน มันก็เลวกว่าสัตว์ นี่ต้องประณามตนอย่างนี้ การประณามตนต้องประณามให้หนัก อย่าประณามเบา อย่ามองในด้านของความดี
ถ้าจิตของเราทรงอยู่ในพรหมวิหาร 4 แล้วมีอะไรบ้างที่มันจะเกิดขึ้น นั่นก็คือ ศีลบริสุทธิ์ ไม่ต้องระมัดระวังศีล ความเป็นผู้มีเหตุมีผล มีความเคารพในองค์สมเด็จพระทศพลก็มีพร้อมบริบูรณ์ เพราะอะไร เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ ก็แสดงว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ เพราะว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงแนะนำให้จิตอยู่ในขอบเขตนี้ เรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระชินสีห์เป็นต้น เราจึงมีศีลบริสุทธิ์ เราจึงรู้จักอายความชั่วเกรงกลัวความชั่ว จึงได้มีการประกอบความดี คือ จิตทรงพรหมวิหาร 4 มีหิริโอตตัปปะ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ อยู่ที่ไหนก็มีแต่ความเยือกเย็น มีแต่ความเป็นสุข เราก็เป็นสุข บุคคลอื่นก็เป็นสุข เพราะกายไม่เสีย ปากไม่เสีย ทั้งนี้เพราะว่าใจไม่ไม่เสีย ถ้ากายเสีย ปากเสีย ก็แสดงว่าใจมันเสีย ๆ มากจนล้นมาถึงกาย ถึงวาจา นี่เป็นอันว่าถ้าทรงคุณธรรมอย่างนี้ได้ ความเป็นพระโสดาบันก็ย่อมปรากฏ
ทีนี้สำหรับวันนี้ขอดูเวลาก่อน พอจะมีเวลาพูดไหม ขอพูดต่อไปว่า เราพูดกันมาถึงด้านพระโสดาบันว่า ประกอบไปด้วยองค์ 4 ประการ คือ 
1. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
2. มีความเคารพในพระธรรม
3. มีความเคารพในพระสงฆ์
4. มีศีลบริสุทธิ์
นี่เป็นองค์ของพระโสดาบัน แต่องค์ทั้งหลายอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยมรณานุสสติกรรมฐานเป็นเบื้องต้นที่เราคิดว่าเราจะต้องตาย จงอย่าคิดว่าอีกสองวันตาย สามวันตาย จงคิดไว้เสมอว่าเราอาจจะต้องตายเดี๋ยวนี้ และตายก็จงตายดี ตายอย่างพระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิง 500 อย่าเป็นมีลมปราณแต่ว่ายืนตายจากความดีอย่างเหล่าของนางมาคันธิยา
ทีนี้สำหรับอนุสติที่จะพึงปฏิบัติในความเป็นพระโสดาบันก็คือ
1. มรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์
2. พุทธานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
3. ธัมมานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระธรรมเป็นอารมณ์
4. สังฆานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระสงฆ์เป็นอารมณ์
5. สีลานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของศีลเป็นอารมณ์
6. พรหมวิหาร 4 อย่างนี้ไม่เรียกว่าอนุสติ ใคร่ครวญในพรหมวิหาร 4 จัดเป็นกรรมฐานกองหนึ่งเป็นอารมณ์
7. อุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์
ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งภาวนา ให้ใช้จิตควบคุมอยู่ตลอดทั้งเวลาลืมตาและหลับตา นี่นักปฏิบัติที่ดีเขาใช้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าเวลาหลับตาทำท่าจะเป็นคนดีแต่พอลืมตาขึ้นมาแล้วความอัปรีย์มันก็เกิดแก่จิต อิจฉาริษยาบุคคลอื่น กลั่นแกล้งบุคคลอื่น คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น อย่างนี้มันใช้อะไรไม่ได้ ตายแล้วไปสู่อบายภูมิ อย่าว่าแต่พระโสดาบันเลย กลับมาเป็นคนมันยังเป็นไม่ได้ เข้าใจจิตตามนี้
ทีนี้พูดกันไปแล้วในด้านของพระโสดาบัน ขอต่อไปอีกนิดถึงอารมณ์ของ พระสกิทาคามี สำหรับพระสกิทาคามีน่ะ ทำให้จิตละเอียดลงไปกว่านั้น คือ ระงับโลภะ ความโลภ ระงับโทสะ ความโกรธ ระงับโมหะ ความหลง ให้เบาบางลง ยังไม่หมด คือ ความโลภยังมีอยู่ แต่ว่าเพลาลงไป ความโกรธยังมีอยู่ ยับยั้งไว้ได้เร็ว ความหลงยังมีอยู่ มีอาการเพลาตัว เป็นอันว่าทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลงมันบาง บางกว่าพระโสดาบัน ท่านก็ เรียกว่า สกิทาคามี สำหรับสังโยชน์ก็มีความประพฤติเหมือนกัน แต่จิตละเอียดกว่า
ทีนี้ถ้าหากว่าเราระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้ทีละตัวมันก็ลำบาก เราก็มายืนจุดศูนย์กลาง ก็คือ ทรงพรหมวิหาร 4 เคร่งครัด มีความมั่นคงในพรหมวิหาร 4 มากขึ้น มีหิริและโอตตัปปะมากขึ้น นึกถึงความตายเห็นชัด มีอารมณ์ทรงตัวมากขึ้น ทีนี้เมื่อเรามีพรหมวิหาร 4 มีหิริและโอตตัปปะ นึกถึงความตาย ใจมันก็เลิกโลภ เลิกโลภตรงไหน เพราะมันจะตาย รู้ ทำตะเกียกตะกายเหมือนกับว่าเกินพอดี ถ้าหากว่าหาอาหารหรือหาทรัพย์สินมาด้วยสัมมาอาชีวะ ไม่จัดว่าเป็นความโลภ ต้องเอาอาการเกินพอดี ที่สำคัญคือ อยากจะได้ของบุคคลอื่น แม้ไม่ทำแต่ใจมันก็อยาก อยากจะโกงเขา อยากจะข่มเหงเขา อยากจะอิจฉาริษยาเขา อยากทุกอย่างซึ่งเป็นด้านของความเลว อันนี้ไอ้ตัวอยากตัวนี้เราตัด งดมันเสียได้ด้วยอำนาจของพรหมวิหาร 4 หิริ และ โอตตัปปะ และ มรณานุสสติกรรมฐาน เอาอารมณ์ 3 ประการเข้าควบคุม คิดว่าจะอยากได้ของเขาไปทำไม ได้มาแล้วมันก็ตาย ไม่ได้มันก็ตาย มีเท่านี้ก็พอกิน หากินแบบนี้ไม่ได้มีได้เท่าไหร่พอใช้พอกิน หากินให้มันรวยกว่านี้ หากินด้วยความสุจริตใจ ไม่มีโทษ เพราะยังเป็นสกิทาคามี
และอารมณ์อีกอันหนึ่งสำหรับพระอนาคามี ที่มีความสำคัญก็คืออภัยทาน ให้อภัยแก่ผู้ผิด เราเองก็พยายามไม่ทำผิดอยู่เสมอ ทรงอารมณ์ปกติในมรณานุสสติกรรมฐานเคร่งครัด เคารพในคุณพระรัตนตรัยเคร่งครัด มีหิริและโอตตัปปะเคร่งครัด ศีลเคร่งครัด และมีพรหมวิหาร 4 แข็งกร้าวในจิต ไม่ยอมให้จิตตกอยู่ในอำนาจของความเลว นึกถึงการให้ทาน การบริจาคอยู่ตลอดเวลา ตั้งหน้าปรารถนาจะสงเคราะห์คนอื่นให้มีความสุข เป็นอุปสมานุสติ การนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีจิตใจรักพระนิพพานอย่างยิ่ง
เพียงเท่านี้จิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ภิกษุและสามเณร ถ้าทรงอารมณ์จิตได้อย่างนี้จริง ๆ ท่านก็เป็นสกิทาคามี ซึ่งมันเป็นของไม่ยาก ที่ยากก็เพราะเราอยากเลว ถ้าคนอยากดี พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีไม่มีอะไรยาก สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น