วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

อารมณ์พระโสดาบันและพระสกิทาคามีมรรค (ต่อ)

อารมณ์พระโสดาบันและพระสกิทาคามีมรรค (ต่อ)

จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน

การอภัยทาน
โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทได้พากันสมาทานพระรัตนตรัยแล้ว สำหรับวันนี้ก็จะพูดต่อเมื่อวันวาน แต่การเริ่มต้นก็ขอให้ทุกคนพยายามฝึกฝนอารมณ์ไว้ วิธีการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกนี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นการระงับอาการฟุ้งซ่านของจิต เราอธิบายกันมามาก พูดกันมามาก ไม่อยากอธิบายซ้ำ ไม่อยากพูดซ้ำ
สำหรับวันนี้ก็จะได้ปรารภเรื่องพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีต่อไป เพราะว่าท่านโสดาบันกับสกิทาคามีละสังโยชน์ได้เสมอกัน แต่ทว่ามีอาการระงับต่างกัน หมายถึงว่าพระสกิทาคามี มีการระงับ หรือการทำโลภะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง สำหรับพระสกิทาคามีเบื้องต้น เรียกว่า สกิทาคามีมรรค นั่นก็ได้แก่ถือ อภัยทานเป็นสำคัญ อภัยทานที่จะเกิดขึ้นมาได้ก็ อาศัยพรหมวิหาร 4 ถ้ามีอยู่ในใจ ก็มีแต่ความรักความสงสาร ตัดความอิจฉาริษยา มีอารมณ์วางเฉยหรือว่าเฉยในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้ทำลายอารมณ์จิตของเรา วางไว้ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้ต้องจำ
ที่ว่าต้องจำก็เพราะว่าบางทีพวกเราก็มักจะลืมกันเหมือนกัน มักจะไปยุ่งกับจริยาของบุคคลอื่น อันนี้เป็นการไม่สมควร พูดกันมาทุกวัน ระวังให้ดี อย่าไปยุ่ง ความเป็นพระให้มันเป็นพระ อย่าทำตนเป็นพะ เป็นเณรจงเป็นเณร อย่าทำตนเป็นโจร คำว่าโจร หมายความว่า ปล้นความดีของพระพุทธศาสนา ปรับปรุงใจของตนเองเป็นสำคัญ
ถ้าทุกคนปรับปรุงใจของตนดีแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องไปยุ่งกับคนอื่น ไม่สร้างคนอื่นให้มีความเร่าร้อน ในการที่จะเพ่งโทษคนอื่นต้องรู้ตัวว่าเราเลวเกินไป นี่จงรู้สึกตัวไว้เสมอ รู้สึกตัวว่าเรามันเลว เลวมากจนกระทั่งขังอยู่ในใจไม่ได้ มันจึงอุตสาห์ไหลมาทางวาจา ไหลมาทางกาย นี่แสดงว่าความเลวมันล้นออกมาจากจิต ในข้อนี้ต้องคิดไว้เป็นประจำ อย่าทนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้วปากไม่เสีย กายไม่เสีย ถ้าปากเสีย กายเสีย ความเลวมันล้นมีความดีไม่ได้
ทีนี้สิ่งที่เราจะกันความเลวไม่ให้มันล้นออกมา ก็ต้องอาศัยพรหมวิหาร 4 คือ มีจิตเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นใครได้ดีพลอยยินดีด้วยและมีอารมณ์วางเฉย ยอมรับนับถือกฎของกรรม และพยายามเพ่งโทษโจทก์ความชั่วของตัวอยู่เสมอ อย่าไปโทษโจทก์ความชั่วของบุคคลอื่น ถ้าใจมันยังโทษโจทก์ความชั่วของบุคคลอื่น แสดงว่ายังเลวอยู่ ยังมีความอิจฉาริษยาคนอื่น ยังเลวอยู่ พูดเสียดสีค่อนแคะบุคคลอื่น ยังเลวอยู่ สร้างกรรมชั่ว ทำชั่ว ทำผิดวินัย มันยังเลวอยู่ นี่พยายามมองความเลวในใจของเราเป็นสำคัญ ถ้าใจของเราไม่เลว เราก็ไม่มีการเพ่งโทษบุคคลอื่น ไม่เสียดสีบุคคลอื่น และอารมณ์แห่งพรหมวิหาร 4 มีอยู่
เมื่อพรหมวิหาร 4 มีความละเอียดทรงตัวดี มีอารมณ์ละเอียด จึงจะให้อภัยทานได้ อภัยทานนี่มันมีกำลังหนัก คือว่าหนักกว่า พรหมวิหาร 4 ธรรมดา พรหมวิหาร 4 ธรรมดานี่เรามีจิต เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร แล้วมีรัก มีสงสาร ไม่อิจฉาริษยาเขา
สำหรับอภัยทานนี้ต้องใช้อารมณ์สูงไปกว่านั้น เพราะว่าเราต้องให้อภัยกับคนที่สร้างความชั่วให้เกิดขึ้นกับเรา แทนที่เราจะโกรธแทนที่เราจะพยาบาท เรามีจิตคิดให้อภัยในความเลวของเขา โดยมีความรู้สึกนึกคิดว่าบุคคลนี้มีสภาพเป็นทาส ไม่มีความเป็นไท
คำว่า ทาส เป็นคนชั้นต่ำ เป็นพระนักบวช ก็เป็นนักบวชชั้นต่ำ เป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นต่ำ เพราะว่ายังมีจิตเป็นทาสอยู่ ยังไม่เป็นไท อยู่ในเกณฑ์ถูกบังคับบัญชาให้ทำอยู่เสมอ
ทาสคนยังดี ยังมีโอกาสหาความดีมาใส่ตนได้ ถึงแม้ว่าเป็นทาส นี่ทาสของคน ดูตัวอย่าง นางบุญทาสี เป็นทาสของคหบดี รับใช้เจ้านายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีค่าจ้างรางวัล เพราะเป็นทาส แต่ว่านางบุญทาสีก็ยังมีจิตเป็นกุศล ยอมรับนับถือความดีขององค์สมเด็จพระทศพล นายใช้ให้ไปธุระในกิจทางไกล นางก็ทำแป้งจี่ด้วยรำกับปลายข้าว ปิ้งแล้วห่อชายพกไป หวังจะไปกินตามทางในเวลานั้น ปรากฏว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอานนท์เดินผ่านมาพอดี นางบุญทาสีมาคิดในใจว่าเราเป็นทาสเขา บางครั้งเราก็มีศรัทธาเห็นพระแต่ไม่มีอะไรจะถวาย บางครั้งเรามีของจะถวายพระ ก็ไม่เจอพระหาพระยาก วันนี้เราเจอองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระอานนท์ เรามีแป้งจี่ทำด้วยรำกับปลายข้าวผสมกัน ห่อชายพกมา เราจะเอาของอันนี้ถวายองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาใกล้ นางก็นิมนต์ให้หยุด แล้วก็แก้ชายพกเอาแป้งจี่มาใส่ลงไปในบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใส่ลงไปแล้วนางก็คิดว่าตามธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไปฉันในสำนักของพระราชาบ้าง ในสำนักของมหาเศรษฐีบ้าง ฉันแต่ของดี ไอ้ของ ๆ เราน่ะเป็นของเลว พระพุทธเจ้าคงไม่ฉัน แต่ทว่าอาศัยที่เรามีความตั้งใจเป็นกุศลองค์สมเด็จพระทศพลจะฉันหรือไม่ฉันก็ช่าง เราหวังถวายท่านเอาบุญเท่านั้น
เมื่อนางคิดแบบนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงมองดูหน้าพระอานนท์ นี่เขาคิดน่ะ เขาไม่ได้พูด พระอานนท์รู้ท่าจึงได้ปูผ้าสังฆาฏิลง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประทับที่ตรงนั้น ฉันแป้งจี่ของนางบุญทาสีในขณะนั้น กลางทางนั่นเอง นางบุญทาสีดีใจเกือบตาย นั่งลงยกมือไหว้พนมตลอดเวลาด้วยความปลื้มใจยิ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จก็โมทนา เมื่อโมทนาจบ นางบุญทาสีก็สำเร็จเป็นพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น
นี่แสดงว่า ความเป็นทาสของคน คนเป็นทาสคน ถึงแม้ว่าจะไม่มีอิสรภาพเป็นตัวของตัวเองก็จริงแหล่ แต่ทว่าใจเป็นอิสระ สามารถจะประกอบความดี จะคิดถึงความดีได้
แล้วเราก็คิดใหม่ว่า สำหรับคนที่เขามาสร้างความชั่วให้สะเทือนใจเรา นั่นเขาเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม นี่ไม่มีทางจะคืนตัวได้ ความเป็นอยู่ของเขาในปัจจุบันในชาติที่เป็นมนุษย์ เขาก็มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความเศร้าหมองจิต เพราะกิเลสมันทำจิตใจให้เศร้าหมอง ตัณหาสร้างจิตใจให้เร่าร้อน อุปาทานมีอาการเกาะความชั่วเป็นปกติ อกุศลกรรมทำความชั่วตลอดเวลา คนที่เป็นทาสของกิเลสตายแล้วไม่มีโอกาสจะเกิดเป็นคน แม้จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังเกิดไม่ได้ ต้องไปเกิดในอบายภูมิ
นี่ถ้าบุคคลผู้ใดทำใจของเราให้เร่าร้อนด้วยกายกรรม ทำด้วยกายก็ดี ด้วยวจีกรรม ทำด้วยวาจาก็ดี เราจงคิดว่าคนประเภทนี้เขาไม่ใช่คน เขาคือสัตว์นรกในอบายภูมินั่นเอง เราก็คิดว่าถ้าเราจะไปต่อล้อต่อเถียง จะกระทำตอบ เราก็จะเลวตามเขา เวลานี้จิตใจของเขาจมลงไปแล้วในนรก ถ้าเราทำตามแบบเขาบ้าง เราก็จะจมลงนรกเหมือนกัน มันไม่มีประโยชน์ จิตเราก็ระงับความโกรธด้วยอำนาจขันติหรืออุเบกขา นี่อุเบกขาเราใช้กันตรงนี้เลย เฉย เขาเลวก็ปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียว เราไม่ยอมเลวด้วย
นอกจากนั้นก็มาคิดปลงอนิจจังว่า พุทโธ่เอ๋ย นี่ตัวเขาเองกว่าจะมาเกิดเป็นคนได้น่ะมันยากแสนยาก คนที่มีจิตใจประเภทนี้ คนที่มีจิตประเภทนี้มาจากนรกก่อน เดิมทีมาจากนรก ตกนรกสิ้นระยะเวลามาหลายแสนกัป กว่าจะผ่านนรกขึ้นมาได้ แล้วก็ต้องมาเป็นเปรต มีทุกขเวทนาอย่างหนัก แล้วก็มาเป็นอสุรกาย มีแต่ความหิวโหย แล้วก็ต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานซึ่งไม่มีอิสรภาพ ใช้เวลานานแสนนานจึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เขาน่าจะรู้สึกตัวว่ากรรมชั่วเก่าของเขาที่ทำไว้ให้โทษอย่างหนัก น่าจะเป็นคนที่มีการกลับใจได้ดี สร้างความดีจากความเป็นคนให้ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม แต่ว่าเขามากลับหวนลงนรกอีก แบบนี้เป็นบุคคลที่น่าสงสาร ควรให้อภัย เพราะอะไร เพราะว่าใจของเขาไม่ใช่ใจของคนเสียแล้ว เป็นใจของสัตว์นรก ควรให้อภัยเขา ถ้าเราไปต่อสู้กับเขาต่อล้อต่อเถียงตอบแทนเขาด้วยอาการเช่นเดียวกัน อารมณ์ของเราก็จะทรามเกินไป นี่การให้อภัยทาน เขาให้อภัยกันอย่างนี้
แล้วก็จำได้ด้วยว่าถ้าบุคคลใด หรือพระองค์ใด เณรองค์ใดปฏิบัติอย่างนั้น ก็พึงรู้ตัวว่า เราจะมานั่งเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานสักกี่แสนปี มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย กลับจะมีโทษหนัก เพราะการเจริญพระกรรมฐานถ้ามีใจเลวมันกลายเป็น มารยา ล่อลวงบุคคลอื่นให้หลงผิดคิดว่าเราเป็นคนเคร่งครัดมัธยัสถ์ คิดว่าเราเป็นคนดี
ในอารมณ์ของพระสกิทาคามีเบื้องต้น ถ้าจะกล่าวกันไปอีกทีเรียกว่าสกิทาคามีมรรค ยังไม่ใช่สกิทาคาผล เป็นอันว่าเรากำลังเดินเข้าไปหาความเป็นพระสกิทาคามี อย่าลืม อาการอย่างนี้เป็นพระสกิทาคามีมรรค
ทวนต้นสักนิดว่า สกิทาคามีมรรคปฏิบัติมาเช่นเดียวกับ พระโสดาบัน คือ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่า มรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อรู้ตัวว่าจะตาย ก็มีความไม่ประมาท คิดว่าตายคราวนี้ต้องดีกว่าการเกิดมาคราวนี้ ทั้งนี้เพราะอะไรก็เพราะว่าเราเกิดมาเป็นคนแล้ว จะกลับมาเกิดเป็นคนอีกก็ต้องเป็นคนที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่มีสภาวะอย่างนี้ หรือมิฉะนั้นเราก็ควรเป็นเทวดาหรือพรหม
ฉะนั้นเมื่ออารมณ์ของพระโสดาบัน หรือ โสดาปัตติมรรค คิดอย่างนี้แล้วจึงพยายามรวบรวมกำลังใจ นึกถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ มั่นคงอยู่ในคุณทั้ง 3 ประการ คิดว่าเรามั่นอยู่ในคุณทั้ง 3 ประการนี้ เราตายไม่ลงนรกแน่ แต่ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ เราจะต้องปิดอบายภูมิ ด้วยการรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ อย่างนี้เป็นอารมณ์พระโสดาปัตติมรรค ยังไม่ใช่อารมณ์ของพระโสดาปัตติผล
พอถึงพระโสดาปัตติผล อันดับแรกพอจิตเข้าสู่ โคตรภูญาณ ในตอนนี้อารมณ์จะเริ่มเข้าจุดยอมรับนับถือกฎของธรรมดา มันจะแก่ มันจะป่วย มันจะตาย ใจจะรู้สึกว่าเป็นของะรรมดา ไม่มีความหนักใจ ใครเขาจะกล่าวนินทาว่าสรรเสริญ จะเสียดสีอะไรก็ตามรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ใช่จะไม่มีความไม่พอใจ ความไม่พอใจมีขึ้นเหมือนกัน แต่ระงับได้เร็ว ไม่โต้ไม่ตอบ เมื่อไม่โต้ไม่ตอบเขา เราก็ไม่ทำด้วยอาการอย่างนั้น เราไม่ทำ เห็นว่าเป็นอาการเลว เมื่ออารมณ์จับธรรมดาเป็นปกติอย่างนี้เรียกว่า โคตรภูญาณ เมื่ออารมณ์จับธรรมดาอย่างนี้แล้ว อารมณ์อีกส่วนหนึ่งก็จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่เป็นโคตรภูญาณเบื้องปลาย
เมื่ออารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็ถอยหน้าถอยหลังพิจารณาว่า ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง เราจะต้องยึดคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดศีลเป็นกำลังสำคัญเพื่อป้องกันอบายภูมิ แล้วจิตใจของเราก็มีความมั่นคงในพระนิพพาน ศีล 5 ประการจะไม่ด่างพร้อย สำหรับฆราวาส สำหรับเณร ศีล 10 ไม่ด่างไม่พร้อย มีอารมณ์รักษาศีลเป็นปกติจนกระทั่งมีอารมณ์ชุ่มชื่นแจ่มใส การปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรมไม่ต้องระมัดระวัง มันมีอารทรงอารมณ์ของมันเอง มีอารมณ์รักษาพรหมวิหาร 4 เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า พระโสดาปัตติผล ยังมีความรัก ยังมีความโลภ ยังมีความโกรธ ยังมีความหลงแต่ทว่าไม่ทำ ไม่ละเมิดศีล รักอยู่ในขอบเขตของศีล รวยอยู่ในขอบเขตของศีล โกรธไม่ทำร้ายเขา ไม่ฆ่าเขา เพราะกลัวศีลขาด หลงก็จริงแหล่แต่ทว่าไม่ลืมความตาย ใจมั่นคงอยู่อย่างนี้เรียกว่าพระโสดาปัตติผล
ทีนี้การเข้าถึงพระสกิทาคามีมรรคก็ยึดพรหมวิหาร 4 เป็นสำคัญ เพราะพรหมวิหาร 4 นี่ต้องมีมาจากพระโสดาบันแล้ว ถ้าไม่มีพรหมวิหาร 4 ศีลไม่บริสุทธิ์ ทีนี้พอมาถึงพระสกิทาคามีมรรค เราก็มาจับอภัยทานเป็นสำคัญ คิดแล้วมาอย่างเมื่อกี้นี้ ถ้าใจเราเลว คิดถึงใจอยู่เสมอ ใจเรา อย่าไปดูใจคนอื่น ไม่ต้องไปช่วยใครเขาขัดเกลาจิตใจของเขา ช่วยตัวเราให้มันรอดก็แล้วกัน ถ้าหากว่าเราดีจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่มีการทำให้บุคคลอื่นให้เร่าร้อน คนดีนี่มันไม่มีชั่ว
เมื่อใจของเราดี ใจทรงพรหมวิหาร 4 ใจมีอภัยทาน มันมีอะไรบ้างในจิตที่เราจะไปคิดประทุษร้ายบุคคลอื่น ทั้งทางกายและวาจาทำเขาให้เร่าร้อน มันก็ไม่มี อาการอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นสกิทาคามีมรรค ยังไม่ถึงสกิทาคามีผล แล้วเรื่องสกิทาคามีผลนี่จะพูดกันวันหลัง
ต่อจากนี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น